บทบาทของสัตวแพทย์ในการวินิจฉัย ป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดนก

บรรยายโดยอาจารย์.น.สพ.ดร.วิทวัช วิริยะรัตน์
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

        ปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกนั้นส่งผลกระทบต่อสภาพเศษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศอย่างกว้างขวาง บุคคลากรในสาขาวิชาชีพต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาไข้หวัดนกจึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อ วินิจฉัย ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

        สัตวแพทย์เป็นวิชาชีพหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการควบคุมการระบาดของโรคระบาดในสัตว์ ซึ่งรวมถึงโรคไข้หวัดนกด้วย โดยสัตวแพทย์เป็นผู้มีบทบาทในการกำหนดมาตรการต่างๆ ของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่นำมาใช้ในการควบคุมโรค ซึ่งได้แก่ มาตรการการทำลายสัตว์และการจ่ายค่าชดเชย มาตรการการเฝ้าระวังและค้นหาโรคไข้หวัดนก มาตรการการควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก มาตรการการทำความสะอาดและทำลายเชื้อ มาตรการการควบคุมโรงฆ่าสัตว์ปีกและโรงงานแปรรูป มาตรการการปรับปรุงและพัฒนาระบบการเลี้ยงสัตว์ปีก และมาตรการถ่ายทอดความรู้และประชาสัมพันธ์

         นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมของสัตวแพทย์ในหน่วยงานอื่นๆที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกอาทิเช่น การจัดตั้งเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ ในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ในภูมิภาคต่างๆของประเทศ การสำรวจโรคไข?หวัดนกในสัตว์ที่ไม่ใช่ปศุสัตว์โดยหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น และสัตว์อพยพ คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กรมอุทยานแห่งชาติฯ และ กรุงเทพมหานคร การอบรมอาสาสมัครเฝ้าระวังโรคในนกประจำถิ่นและนกอพยพโดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับงานวิจัยไข้หวัดนกในสัตว์ อาทิเช่น การศึกษาธรรมชาติในการติดเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ชนิดต่างๆ ระบาดวิทยาของเชื้อไข้หวัดนกระดับอนูชีววิทยา การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ ของเชื้อไข้หวัดนกชนิด H5N1 และการเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนพันธุกรรม (reassortment) การพัฒนาชุดตรวจสอบหาเชื้อไข้หวัดนก เป็นต้น

<<back