การเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย

บรรยายโดย นายแพทย์ ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์

        ประชาคมโลกกำลังมีความกังวลต่อการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ (influenza pandemic) อันอาจเกิดขึ้นจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H5N1 ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดนกที่กำลังระบาดอยู่ในหลายภูมิภาคในโลก โดยคาดการณ์ว่าหากเกิดการระบาดใหญ่ขึ้น จะสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งมีผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคมอย่างมหาศาล ดังนั้น ประเทศต่างๆจึงเริ่มเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับการระบาดใหญ่ดังกล่าว ประเทศไทยก็กำลังเตรียมความพร้อม ตามแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลเมื่อเดือนมกราคม พศ 2548 แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวกำหนดให้เตรียมความพร้อม 5 ด้าน ได้แก่ การเฝ้าระวังและควบคุมโรคในคนและสัตว์ การจัดหา พัฒนาและผลิตเวชภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์จำเป็น การเตรียมความพร้อมรับภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และด้านชุมชน การประชาสัมพันธ์สร้างส่วนร่วมของชุมชน และการบัญชาการและบริหารจัดการแบบบูรณาการ

         การเตรียมความพร้อมดังกล่าวเป็นภารกิจสำคัญของประเทศ จะต้องดำเนินการด้วยความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างเต็มความสามารถ ในระยะเกือบสองปี่ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานงานเตรียมความพร้อมภาครัฐ ซึ่งมีสาระสำคัญเน้นในด้านการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน เช่น ได้พัฒนาระบบการเฝ้าระวังโรค การสอบสวนและควบคุมโรค ให้มีความไวพอที่จะค้นหาผู้ป่วยและเข้าควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว การวินิจฉัยโรคไข้หวัดใหญ่มีการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานและรวดเร็ว มีการจัดหาและสำรองยาต้านไวรัส (Oseltamivir) วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Seasonal influenza vaccine) วัสดุอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อของบุคลากร รวมทั้งได้ริเริ่มความพยายามที่จะผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ระบาดใหญ่ ด้านการแพทย์มีการพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วย ซึ่งเผยแพร่อบรมแก่บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ รวมทั้งการจัดทำห้องแยกผู้ป่วยป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำแก่ประชาชน และกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ให้ตระหนักถึงความเสี่ยง และรู้วิธีป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ เป็นต้น ในปัจจุบันจังหวัดต่างๆได้จัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมตามแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว และทยอยจัดการซ้อมแผนในลักษณะการซ้อมบนโต๊ะ (Tabletop exercise)

         การเตรียมความพร้อมของประเทศต่อการระบาดใหญ่นับว่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้น จะต้องขยายการดำเนินงานต่อไปอย่างจริงจัง โดยจะต้องส่งเสริมให้มีการเตรียมความพร้อมในภาคธุรกิจทั่วประเทศ รวมทั้งการประกันระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานระหว่างที่เกิดการระบาดใหญ่ เช่น ระบบไฟฟ้า น้ำประปา การคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร การธนาคาร การรักษาความมั่นคงความปลอดภัย เป็นต้น ภารกิจอันมหาศาลนี้ จำเป็น ต้องได้รับความร่วมมือพหุภาคีอย่างเต็มที่ และโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง

 

<<back