แนวทางการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ของประเทศไทย

บรรยายโดย ชิษณุ พันธุ์เจริญ

        ปัจจุบันมีคำแนะนำหรือแนวทางการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยในหนังสือ ตำรา หรือคู่มือที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนและ/หรือโรคไข้หวัดใหญ่หลายเล่ม ส่วนใหญ่เป็นความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญในองค์กรวิชาชีพต่างๆ แต่ยังไม่มีแนวทางการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในระดับประเทศที่ชัดเจน

         มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ (ประเทศไทย) ได้รับมอบหมายจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นเจ้าภาพในการจัดทำแนวทางการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ของประเทศไทย โดยได้เชิญตัวแทนและผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานและองค์กรวิชาชีพ มาเสนอร่างแนวทางฯ และพิจารณาร่วมกันหลายครั้ง ขณะนี้ร่างแนวทางฯอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข

       การร่างแนวทางการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ของประเทศไทย ได้ยึดแนวทางการให้วัคซีนในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก และนำมาปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. กลุ่มประชากรที่มีข้อบ่งชี้ในการได้รับวัคซีน แบ่งเป็น กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนหลังจากป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ กลุ่มที่อาจแพร่โรคไปสู่กลุ่มเสี่ยงสูงหรือบุคลากรที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค และกลุ่มอื่นๆ โดยแต่ละกลุ่มได้มีการแจกแจงเป็นกลุ่มย่อยอีกด้วย ในปัจจุบันภาครัฐได้ให้ความสำคัญของการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นลำดับต้นสำหรับกลุ่มประชากรที่ต้องสัมผัสกับสัตว์ปีกป่วยตายที่อาจเกิดจากโรคไข้หวัดนก และกลุ่มประชากรที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์
  2. บุคคลที่มีข้อห้ามของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติแพ้ไข่และแพ้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดรุนแรง
  3. ผลข้างเคียงและปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ที่พบ พบน้อยและเกือบทั้งหมดเป็นผลข้างเคียงเฉพาะที่และเป็นชนิดไม่รุนแรง
  4. ข้อสังเกตและเสนอเป็นประเด็นเพื่อพิจารณา ได้แก่ กลุ่มประชากรที่ควรได้รับวัคซีน เช่น อายุที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ (50, 55, 60 หรือ 65 ปี) การใช้วัคซีนในเด็กและอายุที่เหมาะสม (6 เดือน-2 ปี หรือ 6 เดือน-5 ปี) ควรมีการจัดตั้งลำดับความสำคัญของกลุ่มประชากรแต่ละกลุ่มในการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่

 

<<back