Epidemiology in Action to prevent and control Avian Influenza in Thailand

บรรยายโดย นพ. คำนวณ อึ้งชูศักดิ์
ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค
ผู้สรุปคำบรรยาย: นพ.รุ่งเรือง กิจผาต

        จากประสบการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกจนถึงปัจจุบัน (3 สิงหาคม 2549) ทั้ง 4 รอบ พบว่า จะมีรายงานผู้ป่วยรายแรกในแต่ละรอบทุกครั้งที่สถานการณ์ดูเหมือนสงบ ข้อมูลด้านระบาดวิทยาผู้ป่วย 23 ราย (เสียชีวิต 15 ราย, อายุ 1.5-58 ปี ค่ามัธยฐาน 14 ปี, เด็ก 12 ราย, ชาย 14 ราย, หญิง 9 ราย) พบว่าผู้ป่วย 22 รายอาศัยในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ (สัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีกป่วยตาย 13 ราย สัมผัสทางอ้อมกับสิ่งแวดล้อม 9 ราย) ผู้ป่วย 1 รายไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่แต่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยน่าจะเป็นอย่างใกล้ชิด เป็นที่น่าสังเกตว่า จากข้อมูลการวินิจฉัยเบื้องต้น มีการวินิจฉัยผู้ป่วยว่าสงสัยไข้หวัดนกเพียง 2 รายเท่านั้น ผู้ป่วยอีก 21 รายที่เหลือ ได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นเป็นโรคอื่นๆ (ปอดบวม 11 ราย ไข้เลือดออก 4 ราย คออักเสบ 2 ราย วัณโรค ไข้ไม่ทราบสาเหตุ ลำไส้อักเสบ ไข้หวัดใหญ่ อย่างละ 1 ราย)

         กรณีผู้ป่วยรายล่าสุดที่จังหวัดพิจิตร (ผู้ป่วยชายอายุ 17 ปี บ้านอยู่อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร) ผลการสอบสวนโรค มีข้อมูลด้านต่างๆที่น่าสนใจดังนี้ ข้อมูลด้านระบาดวิทยา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549 ไก่ในหมู่บ้านเริ่มทยอยตาย ปศุสัตว์อำเภอได้สุ่มตัวอย่างไก่ในหมู่บ้านไปตรวจ แต่ชาวบ้านไม่ทราบผล ต้นเดือนกรกฏาคม 2549 บริเวณบ้านผู้ป่วยมีบ้านจำนวน 5 หลัง บ้านของตายายผู้ป่วย ซึ่งอยู่ติดกับบ้านผู้ป่วยเลี้ยงไก่แบบปล่อยบริเวณใต้ถุนบ้าน มีไก่จำนวน 30 ตัว ไก่เริ่มทยอยตาย 10 กรกฏาคม 2549 ไก่ที่บ้านตายายตายพร้อมกันประมาณ 10 ตัว ผู้ป่วยได้ช่วยตาจับไก่ที่ตายไปฝังในบริเวณบ้าน โดยไม่ได้สวมเครื่องป้องกัน 25 กรกฏาคม 2549 ปศุสัตว์ได้นำไก่ในหมู่บ้านไปตรวจอีกครั้ง หมู่บ้านผู้ป่วยมีบ้านจำนวน 129 หลังคาเรือน มีประชากร 486 คน เลี้ยงไก่ 52 หลังคาเรือน ไก่ตาย 51 หลังคาเรือน จำนวนไก่ที่เลี้ยง 2,559 ตัว จำนวนไก่ที่ตาย 2,500 ตัว เลี้ยงเป็ด 2 หลังคาเรือน เป็ดที่เลี้ยง 118 ตัว ตาย 10 ตัว มีสัตว์ปีกอื่นๆ เช่น นกเขา นกหงส์หยก (33 ตัว) ไม่มีตาย ข้อมูลอาการทางคลินิกและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 15 กรกฏาคม 2549 ผู้ป่วยมีอาการไข้ เวียนศีรษะ ไปรักษาที่คลินิค 18 กรกฏาคม 2549 ยังมีไข้ ไอแห้งๆ ไม่เจ็บคอ ให้ประวัติว่ามีไก่ที่บ้านตาย ไปรักษาเป็นผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลทับคล้อ ตรวจร่างกาย BT: 38.5 C, Chest X-ray: normal, CBC: Hct = 47.4% WBC 6,600 PMN 68% L 31% Plt 166,000, Rapid test for Influenza A: negative แพทย์วินิจฉัยเป็น URI 19 กรกฏาคม 2549 โรงพยาบาลทับคล้อ ได้รับรายงานผลการตรวจ PCR ว่า สิ่งส่งตรวจไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจโรคไข้หวัดนกเพิ่มเติม ผู้ป่วยยังมีไข้ 38.7 C ไปรักษาที่โรงพยาบาลทับคล้อ แพทย์วินิจฉัยเป็น Viral infection และรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยใน CBC Hct 44.7% WBC 3,100 N 63% L 31% Plt 93,000 22 กรกฏาคม 2549 ผู้ป่วยยังมีไข้สูง 39-40.5 C มีไอเป็นเลือดจางๆ CBC Hct 43.7% WBC 2,900 N 63% L 34% Plt 82,000 แพทย์ส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลพิจิตร วินิจฉัยเป็น R/O DHF c Hemoptysis แรกรับที่โรงพยาบาลพิจิตร ผู้ป่วยมีไข้สูง ไอหอบเหนื่อย หายใจเร็ว ฟังปอดพบหายใจเร็ว มีเสียง rhonchi ด้วยซ้าย วินิจฉัยเบื้องต้น R/O pneumonia c DHF CBC: Hct 50.4% WBC 4,000 N 73% L 24% Plt 86,000 Chest X-ray : pulmonary edema, Tourniquet test: positive ผู้ป่วยหายใจเร็ว on o2 mask with bag 6 L/min 24 กรกฏาคม 2549 ตอนเช้าผู้ป่วยมีหายใจเหนื่อย on o2 canular ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ช่วยเหลือตัวเองได้ มีไข้สูงตลอด ปอดมีเสียง crepitation both lung เวลา 16.00 น. เหนื่อยหอบมากขึ้นและยังมีไข้ เวลา 17.20 น. เหนื่อยหอบมากขึ้น มีเขียวปลายมือปลายเท้า (O2 sat 80-85%) ผู้ป่วยมีอาการเกร็งทั้งตัวไม่กระตุก เวลา 17.30 น. หายใจหอบตื้น แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ เวลา 18.35 น. ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นแพทย์ทำ CPR และเก็บตัวอย่างส่งตรวจ Rapid test for Influenza A และ viral load ผล rapid test negative ให้ยา Tamiful ทาง NG tube และย้ายผู้ป่วยเข้าห้องแยก ผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น เสียชีวิต เมื่อเวลา 19.20 น. ผลการตรวจ PCR จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบสารพันธุกรรมเชื้อไวรัสไข้หวัดนก

         การควบคุมป้องกันโรค ได้ค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิด รวม 87 ราย เป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดในบ้าน 2 ราย (บิดา มารดา) ผู้สัมผัสที่ให้การดูแลใกล้ชิดขณะป่วย 3 ราย (ญาติ 2 ราย และเพื่อน 1 ราย) ผู้สัมผัสในโรงพยาบาลทับคล้อ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล จำนวน 28 ราย ผู้ป่วยข้างเตียง จำนวน 2 ราย พบผู้ป่วยข้างเตียงเสียชีวิต 1 ราย ด้วยอาการอุจจาระร่วงรุนแรง (ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่ใช่โรคไข้หวัดนก) ได้ให้ยาป้องกันในผู้ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย จำนวน 85 ราย และเฝ้าระวังในผู้สัมผัสใกล้ชิดเป็นเวลา 10 วัน นับจากวันสุดท้ายที่สัมผัสกับผู้ป่วย ไม่พบผู้มีอาการป่วย ได้เฝ้าระวังเชิงรุกในชุมชนเป็นเวลา 10 วัน ให้ อสม. ทำการค้นหาผู้ป่วยในชุมชน ได้ประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขแจ้งปศุสัตว์อำเภอ เพื่อทำลายสัตว์ปีกทั้งหมดในหมู่บ้าน ให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ในชุมชนเพื่อป้องกันและควบคุมโรค

 

<<back