Role of Veterinarians on Diagnosis, Prevention and Control of Avian Influenza
(บทบาทของสัตวแพทย์ในการวินิจฉัย ป้องกัน และควบคุมโรคไข้หวัดนก)

ผศ. น.สพ. ดร. อลงกร อมรศิลป์
ภาควิชาสัตวแพทยสาธารณสุข
คณะสัตวแพทยศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทร 02-218-9577


        การบรรยายครั้งนี้ได้เน้นถึงบทบาทของสัตวแพทย์ในด้านการเฝ้าระวังและแก้ปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนก ด้านการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงและการกลายพันธุ์ของเชื้อ ด้านการกำหนดมาตรการต่างๆ ของรัฐ และด้านการศึกษาวิจัยข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวกับโรคไข้หวัดนก

        ตัวอย่างของบทบาทในด้านการกำหนดมาตรการต่างๆ ของรัฐ จะเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องการกำหนดมาตรการการดำเนินงานแก้ปัญหาไข้หวัดนกของประเทศ เช่น มาตรการการเฝ้าระวังและค้นหาโรคไข้หวัดนก มาตรการการควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก มาตรการการทำลายสัตว์และการจ่ายค่าชดเชย มาตรการการทำความสะอาดและทำลายเชื้อ มาตรการการควบคุมโรงฆ่าสัตว์ปีกและโรงงานแปรรูป มาตรการการปรับปรุงและพัฒนาระบบการเลี้ยงสัตว์ปีก

        ในด้านการเฝ้าระวังและแก้ไข้ปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนก ได้มีการดำเนินการสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคและเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมปศุสัตว์ฯ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก จะเน้นการเฝ้าระวังโรคทั้งแบบเชิงรุกและเชิงรับ ตัวอย่างของโครงการในการเฝ้าระวังโรคแบบเชิงรุก เช่น โครงการรณรงค์ค้นหาโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีก (X-Ray) ซึ่งได้ดำเนินการปีละ 2 ครั้ง ตัวอย่างของการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนก เช่นการแก้ปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกในฟาร์มเสือ จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2547 ซึ่งสามารถตรวจพิสูจน์โรคและแก้ปัญหาการระบาดของโรคไม่ให้แพร่ไปยังสัตว์ปีกและสัตว์ชนิดอื่นๆในฟาร์มได้

        บทบาทด้านการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงและการกลายพันธุ์ รวมทั้งด้านการศึกษาวิจัย ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับโรคไข้หวัดนก ได้มีผลงานเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติมากกว่า 10 เรื่อง โดยสรุปผลการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก จากการติดตามเชื้อไวรัสมากกว่า 100 ตัวอย่าง ยังไม่พบการเปลี่ยนแปลงในจุดที่มีความสำคัญต่อความรุนแรงและการเกิดโรคของเชื้อไวรัส เช่นผลการถอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่แยกได้จากสัตว์ปีกในเดือนตุลาคม ปี 2548 (ไก่ กาญจนบุรี) (ไก่ นนทบุรี) (นกกระทา นครปฐม) พบว่าเชื้อไวรัสยังจัดอยู่ในกลุ่มของจีโนไทป์ Z ซึ่งเป็นกลุ่มของเชื้อไวรัสในประเทศไทยและเวียดนาม และมีความเหมือนในระดับนิวคลีโอไทต์มากกว่า 90% ในทุกยีน

        โดยสรุป แนวทางในการควบคุมและป้องกันโรคไข้หวัดนก ควรคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ 3 ประการดังนี้คือ 1. เชื้อไวรัส ควรคำนึงถึงเรื่องการทำลายเชื้อไวรัสและการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัส 2. สัตว์ ควรคำนึงถึงเรื่องการเฝ้าระวังโรค การทำลายสัตว์ป่วย การเพิ่มภูมิคุ้ม และการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ 3. สิ่งแวดล้อม ควรคำนึงถึงเรื่องการปรับระบบการเลี้ยงสัตว์ปีก เป็นต้น

 


<<back