งานวิจัยโรคไข้หวัดนกในสัตว์ในประเทศไทย

        
รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร. ทวีศักดิ์ ส่งเสริม
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

        งานวิจัยโรคไข้หวัดนกในสัตว์ในประเทศไทยได้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่การระบาดในครั้งแรกของประเทศ โดยวิจัยในหัวเรื่องหลักใหญ่ ๆ ได้แก่ ระบาดวิทยาทั่วไป ระบาดวิทยาของเชื้อไข้หวัดนกระดับอนูชีววิทยา การกลายพันธุ์ (mutation) ของเชื้อไข้หวัดนกชนิด H5N1 การเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนพันธุกรรม (reassortment) การหาตำแหน่งรีเซฟเตอร์ (receptor binding site) ของเชื้อไข้หวัดนกและในสัตว์ชนิดต่างๆ การศึกษาความรุนแรงและพยาธิกำเนิด พยาธิวิทยา การแพร่กระจาย ของเชื้อไข้หวัดนกชนิด H5N1 ในสัตว์ต่างๆ เปรียบเทียบในแต่ละรอบของการระบาดในประเทศ การพัฒนาชุดตรวจสอบหาเชื้อไข้หวัดนกในภาคสนาม การพัฒนาวัคซีนเชื้อตายของไข้หวัดนกชนิด H5 การสำรวจหาเชื้อไข้หวัดนกชนิดต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ H5N1 ในสัตว์ปีกชนิดต่าง ๆ การศึกษาการคงอยู่คงทนของเชื้อไข้หวัดนกในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ และชนิดของยาฆ่าเชื้อโรคที่ทำลายเชื้อไข้หวัดนกได้ผล ตลอดจนผลกระทบการทำลายหรือการฝังซากสัตว์ต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังได้วิจัยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการป้องกันโรคในฟาร์ม การพัฒนาระบบคอมพาร์ทเม้นท์ในการเลี้ยงสัตว์ (Compartmentalization) การใช้สมุนไพรเพื่อเสริมความต้านทานโรค ตลอดจนศึกษาผลกระทบความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของเกษตรกรที่ได้ประสบปัญหาเรื่องไข้หวัดนกในสัตว์เลี้ยงของตน งานวิจัยทั้งหมดที่ได้ดำเนินการมานั้น ได้รับความร่วมมือจากสถาบันต่าง ๆ อาทิเช่น กรมปศุสัตว์ มหาวิทยาลัยต่างๆ กรมอุทยานแห่งชาติ พันธุ์พืชและสัตว์ป่า อาสาสมัครปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ปกครองในพื้นที่ และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลและการเตรียมความพร้อมการแก้ไขปัญหาเพื่อรับมือกับการระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

<<back