Pandemic Influenza Vaccines: ปัจจุบันและความหวังในอนาคต

Dr. Alan W. Hampson
ผู้สรุปคำบรรยาย นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ

        การเตรียมวัคซีนในยุคแรก มีขั้นตอนดำเนินการ ได้แก่ การเลี้ยงไวรัสใน allantoids ของembryonated egg, การแยกและเก็บ Allantoic fluid, การทำให้เชื้อไวรัสมีความเข้มข้น, การทำให้เชื้อไวรัสหมดฤทธิ์ และการเตรียมวัคซีนตามระดับ Haemagglutination titer ที่กำหนด ปัญหาที่พบจากวัคซีนที่ได้ เช่น การตอบสนองในระบบภูมิคุ้มกัน, ความบริสุทธิ์ , ความผันแปรในการตอบสนอง, Yield – adapting virus to grow วัคซีนชนิด Whole virus มีปัญหาเรื่องไข้จากการได้รับวัคซีนมากกว่าวัคซีนชนิด Split virus สำหรับอาการข้างเคียงที่พบในวัคซีนชนิด Split virus ประกอบด้วยอาการข้างเคียงบริเวณที่ฉีดวัคซีน (บวม, คัน, ร้อน, เจ็บปวดเวลาถูกสัมผัส, เจ็บปวดในระยะเวลานาน) และอาการข้างเคียงทั่วไป (ไข้, ปวดศีรษะ, รู้สึกไม่สบาย)

        เมื่อปี ค.ศ. 1942 Werner Henle และคณะ ได้วิจัยทางคลินิกวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์พบว่าวัคซีนมีประสิทธิผล (n = 40) และมีรายงานในหลายการศึกษาแสดงถึงประสิทธิผลและประโยชน์ของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1947 องค์การอนามัยโลกได้สร้างเครือข่ายในเรื่องไข้หวัดใหญ่ ประกอบด้วย องค์การอนามัยโลก (เจนีวา), ศูนย์ความร่วมมือไข้หวัดใหญ่ (แอตแลนตา, ลอนดอน, เมลเบอร์น, โตเกียว) และศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติในประเทศต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังโรคและรวบรวมสายพันธุ์เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ในแต่ละปี และประกาศแนะนำสายพันธุ์ northern hemisphere ซึ่งจะประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และสายพันธุ์ southern hemisphere ซึ่งจะประกาศในเดือนกันยายนของทุกปี หลังจากนั้นบริษัทผู้ผลิตวัคซีน จะผลิตวัคซีนตามสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกประกาศ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ก็มีวัคซีนออกจำหน่ายในท้องตลาด จุดอ่อนสำคัญของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบัน เช่น ต้องฉีดสายพันธุ์ให้ตรงกับที่ระบาด ภูมิคุ้มกันเกิดในช่วงสั้น ยังคงต้องอาศัยไข่ฟักในการผลิต ใช้ระยะเวลาในการผลิตยาวนาน ผลิตได้ประมาณ 400 ล้านโด๊สต่อปีเท่านั้น

         การระบาดของโรคไข้หวัดนกในปัจจุบัน มีโอกาสนำไปสู่การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ การพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (H5N1) เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการ ปัญหาที่พบสำหรับการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (H5N1) คือ เชื้อไวรัส H5N1 อันตรายสูงต่อบุคลากรที่ผลิตและอาจแพร่ระบาดสู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังฆ่าไข่ไก่ฟักซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการผลิต ดังนั้นการผลิตต้องอาศัยวิธีการทางพันธุวิศวกรรม ต้องอาศัยห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยทางชีวนิรภัย มีการฝึกอบรมบุคลากรเป็นพิเศษ และการผลิตต้องได้มาตรฐาน GMOs ผลการศึกษาพบว่า วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (H5N1) ที่ได้จากวิธีทางพันธุวิศวกรรม พบว่ามีการตอบสนองที่ด้อยกว่าวัคซีนที่ผลิตจากวิธีดั้งเดิม นอกจากนี้ยังพบว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ (H5N1) มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางแอนติเจน ดังนั้นวัคซีนที่ได้ในการผลิตปัจจุบันอาจมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคลดลง

         จากการศึกษาในเรื่องการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (H5N1) มีรายงานเรื่องร้อยละของการตอบสนองระดับภูมิคุ้มกัน ในการทดลองวัคซีนชนิด Split virus (A/Vietnam/1203/04 (H5N))พบว่า ต้องใช้โด๊สมากกว่า 40 mcg HA จึงมีการตอบสนองของ neutralizing antibody มากกว่าร้อยละ 50 และเมื่อให้ขนาดโด๊สเท่ากับ 90 mcg HA มีการตอบสนองของ neutralizing antibody ประมาณร้อยละ 65 มีรายงานการศึกษาวิจัยทางคลินิกในเรื่องการให้วัคซีนแบบโด๊สกระตุ้น หลังจากโด๊สแรกเป็นระยะเวลา 1 เดือน (A/Duck/Singapore/97 (H5N3)) พบว่ามีการตอบสนองของระดับภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า และมีรายงานเรื่องการผสม aluminum adjuvant พบว่าสามารถลดโด๊ส HA และได้ประสิทธิผลที่ใกล้เคียงกัน

บทสรุปการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (H5N1) ในปัจจุบัน ได้แก่

  • วัคซีนชนิด Whole virus มีความแรงของวัคซีนที่ดีกว่าวัคซีนชนิดอื่น
  • การใช้วัคซีนผสมน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการพัฒนา
  • สัปทัยป์ของเชื้อไวรัสที่แตกต่างกัน มีการตอบสนองของระดับภูมิคุ้มกันที่แตกต่างกัน
  • การเติม Adjuvant มีประโยชน์สำหรับการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (H5N1) ในปัจจุบัน ควรมีการพิจารณาการเพิ่มโด๊สของแอนติเจนในการพัฒนาวัคซีน
  • การศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีน ควรแบ่งเป็น 2 ระยะ ในระยะสั้น ควรศึกษาในเรื่อง Live attenuated vaccines, Cell – culture grown vaccines และ Recombinant HA antigen ในระยะยาว ควรศึกษาในเรื่อง HA antigen delivered as a DNA vaccines และ Broadly-reactive (across sub-type)

         เรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาในการพัฒนาวัคซีน ได้แก่ ประสิทธิภาพของวคซีนที่พัฒนาได้ ข้อบ่งใช้ที่ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการและการควบคุมคุณภาพการผลิตโดยพิจารณาจากการตอบสนองภูมิคุ้มกันหรือตัวชี้วัดอื่นๆ

 

 

<<back