(ร่าง) นโยบายและคำแนะนำการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกรณีปกติ และกรณีเกิดการระบาดใหญ่ในมนุษย์ *

        
1. นโยบาย

      1.1. ในภาวะปกติ รัฐบาลจะส่งเสริมการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อป้องกันการป่วย การตาย และผลกระทบทางเศรษฐกิจในแต่ละปี ทั้งนี้การกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์
      1.2. เมื่อมีการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประเทศ รัฐบาลจะสนับสนุนการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในแต่ละปี ให้มีปริมาณเพียงพอในการรักษาระดับการผลิต ให้ถึงระดับที่โรงงานจะสามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้มากพอ เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ในมนุษย์
      1.3. เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ รัฐบาลจะจัดหาวัคซีนและจัดระบบบริการแก่ประชาชนไทยได้เพียงพอและทันเวลา

2. คำแนะนำการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกรณีปกติ

      2.1 ชนิดของวัคซีน
            2.1.1. เลือกใช้วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่น่าจะเป็นเหตุของการระบาดในแต่ละฤดูกาล ซึ่งแนะนำโดยองค์การอนามัยโลก และตรวจสอบกับผลการเฝ้าระวังทางไวรัสวิทยาในประเทศไทย
            2.2.2 อาจเลือกใช้วัคซีนประเภท whole virion, sub-unit หรือ split ซึ่งได้จากการเพาะเลี้ยงเชื้อในไข่ไก่ฟัก หรือในเซล ที่ผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน GPM และขึ้นทะเบียนในประเทศ
            2.3.3 หากมีการผลิตวัคซีนในประเทศ ให้เลือกใช้วัคซีนที่ผลิตในประเทศเป็นอันดับต้น

      2.2 ประชากรเป้าหมาย
            ให้เป็นไปตามแนวทางของอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และข้อเสนอแนวทางสำหรับการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ของมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ (ประเทศไทย) ตามลำดับความสำคัญดังนี้

            2.2.1. บุคลากรที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และไข้หวัดนก (H5N1) ซึ่งบุคลากรกลุ่มนี้อาจเป็นผู้แพร่โรคต่อไปถึงกลุ่มผู้มีความเสี่ยงต่อโรคสูง และ/หรือ เป็นผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและไข้หวัดนกพร้อมๆ กัน เป็นแหล่งให้เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนกได้ ได้แก่

            1.) แพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่นๆ ในโรงพยาบาลทั้งที่ทำงานในหอผู้ป่วยและตึกผู้ป่วยนอก

*โดยคณะทำงานจัดทำนโยบายการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่และยังอยู่ระหว่างการนำเสนอ คณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

            2.) เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลพักฟื้น และสถานที่บำบัดสำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง
            3.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำหน้าที่ในการสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว
            4.) เจ้าหน้าที่ทำลายซากสัตว์ปีก และสัตว์อื่นที่สงสัยติดเชื้อไข้หวัดนก (H5N2)
            5.) เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่

            2.2.2. กลุ่มประชาชนที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดอาการแทรกซ้อน หลังจากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ และบุคคลผู้ดูแลผู้ที่มีความเสี่ยงสูง

            (1.) บุคคลทุกกลุ่มอายุที่มีโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด ผู้ที่มีระบบหายใจไม่ปกติหรือเสี่ยงต่อการสำลัก ผู้ที่มีโรคลมชัก ผู้ที่ไขสันหลังได้รับอันตราย ผู้ป่วยความจำเลอะเลือน ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบประสาทกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยโรคระบบหัวใจที่มิใช่โรคความดันโลหิตสูง
            (2.) บุคคลทุกกลุ่มอายุที่ต้องเข้ารับการรักษา เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำในปีก่อน ด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไต โรคเลือด ผู้มีภูมิคุ้มกันเสื่อมหรือบกพร่อง ผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี รวมทั้งผู้ที่ได้รับยากดระบบอิมมูน
            (3.) บุคคลทุกกลุ่มอายุที่เข้ารับการดูแลบริบาลอยู่ในสถานพักฟื้น และสถานที่รับดูแลโรคเรื้อรังต่างๆ
            (4.) บุคคลอายุ 6 เดือนถึง 18 ปี ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยแอสไพริน เป็นประจำเป็นเวลานาน และมีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยกลุ่มอาการไรย์ หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่
            (5.) บุคคลที่อายุ 65 ปีขึ้นไป
            (6.) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 23 เดือน
            (7.) บุคคลผู้ดูแลผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ข้อ ( 1.) – ( 6.)

            2.2.3 กลุ่มอื่นๆ ได้แก่ บุคคลที่ทำหน้าที่สาธารณะ หญิงตั้งครรภ์ ผู้เดินทาง และประชาชนทั่วไป

3. คำแนะนำการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกรณีเกิดการระบาดใหญ่ในมนุษย์
      
       3.1 ชนิดของวัคซีน
            3.1.1. เลือกใช้วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่น่าจะเป็นเหตุของการระบาดครั้งนั้น ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
            3.1.2. เลือกใช้วัคซีนที่ให้ผลการทดลองทางคลีนิคเบื้องต้นว่ามีประสิทธิภาพป้องกันโรค

      3.2 ประชากรเป้าหมาย
            ประชาชนไทยทุกคน และให้เรียงลำดับความสำคัญ แก่กลุ่มบุคคลต่อไปนี้ก่อน
                  1.) บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
                  2.) บุคลากรทางการแพทย์ที่ดำเนินงานด้านควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ในชุมชน และมูลนิธิ
                  3.) บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉิน ผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นไข้หวัดใหญ่
                  4.) บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสงบ เช่น ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร เป็นต้น
                  5.) บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบริการสาธารณะ เช่น พนักงานขับรถประจำทาง พนักงานขับรถไฟ
                  6.) ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และมีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลแทรกซ้อนเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่
                  7.) ผู้ที่อายุ 6 เดือน ถึง 64 ปี และมีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลแทรกซ้อนเมื่อป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 2 ปัจจัยขึ้นไป
                  8.) หญิงตั้งครรภ์ บุคคลที่มีผู้ป่วยภาวะภูมิคุ้มกันต่ำในครอบครัวเดียวกันซึ่งฉีดวัคซีนไม่ได้

 

<<back