การเตรียมความพร้อมด้านวัคซีนในสถานการณ์ การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก ของประเทศไทย

        
นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์.


        วัคซีนถือว่าเป็นมาตรการทางด้านสาธารณสุขที่มีความสำคัญที่จะหยุดยั้ง การระบาดของโรคได้ ในสถานการณ์ที่อาจจะมีการระบาดใหญ่ (pandemic) ของไข้หวัดใหญ่หรือ ไข้หวัดนกนั้น การเตรียมการทางด้านวัคซีนนับได้ว่ามีความจำเป็น ความสำเร็จของการเตรียมการทางด้านวัคซีนของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับพื้นฐานความพร้อมของประเทศทางด้านการวิจัย, พัฒนา และผลิตวัคซีน

        ประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านการวิจัยพัฒนา และผลิตวัคซีนอยู่ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังถือว่ายังไม่สามารถที่จะผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกได้ทันทีหากมีการระบาดใหญ่ในเร็ววันนี้ ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมทางด้านวัคซีนของประเทศไทยจึงมีการเตรียมทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ดังนี้

การเตรียมการระยะสั้น

  1. การกำหนดความต้องการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในสถานการณ์ปรกติ และในสถานการณ์ การระบาดใหญ่ การกำหนดความต้องการดังกล่าว นอกจากเป็นการเตรียมการหาช่องทางในการให้ได้มาซึ่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในสถานการณ์ปรกติ (เพื่อให้มีสัดส่วนการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เหมาะสม) แล้วยังเป็นการช่วยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย, กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มยกเว้นสำหรับการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกในสถานการณ์การระบาดใหญ่อีกด้วย

  2. การเตรียมการ stockpiling วัคซีนไข้หวัดนก เผื่อไว้หากเกิดการระบาดใหญ่ในเร็ววัน เนื่องจากขณะนี้มีหลายบริษัทที่มีการพัฒนาและผลิตวัคซีนทดลองสำหรับเชื้อไข้หวัดใหญ่ H5N1 (ไข้หวัดนก) เช่น Sanofi Pasteur, Baxter, Sinovac วัคซีนเหล่านี้ผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลอง (preclinical study) แล้ว และยังอยู่ในระหว่างการทดลองในคน (clinical evaluation) ระยะที่ 1, 1/2 หรือ 2 จึงมีความคิดว่าประเทศไทยน่าจะมีการลงทุนเพื่อ stockpiling วัคซีนเหล่านี้ไว้บ้าง เพื่อใช้กับบุคคลสำคัญ/กลุ่มเสี่ยง/กลุ่มเป้าหมาย หากเกิดการระบาดในเร็ววัน แต่เนื่องจากสถานภาพของการทดลองวัคซีนของบริษัทต่าง ๆ นั้น เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การตัดสินใจว่าจะซื้อวัคซีนใด เมื่อใดเพื่อนำมาเป็น stockpile ค่อนข้างลำบาก กล่าวคือไม่ผลีผลาม แต่ก็ไม่ช้าจนเสียการณ์ นอกจากนั้นเนื่องจากประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานการทดลองทางคลินิกที่ค่อนข้างดี และการทดลองทางคลินิกในประเทศไทยมีต้นทุนไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว บริษัทที่ผลิตวัคซีนไข้หวัดนก H5N1 จึงอาจจะติดต่อขอให้ประเทศไทยทำการทดลองทางคลินิกให้ ซึ่งโดยทั่วไปการเจรจาเพื่อทำการทดลองทางคลินิกมักจะมีการเจรจาว่าประเทศไทยควรได้ประโยชน์อะไรจากการทดลองทางคลินิกนั้นด้วย หากการทดลองพบว่าวัคซีนได้ผล ซึ่งรวมถึงโอกาสที่จะได้รับวัคซีนดังกล่าวเป็นประเทศแรก ๆ ในราคาที่เหมาะสมด้วย

  3. การพยายามทำการวิจัยที่เกี่ยวกับวัคซีน เช่น

    3.1 การ establish เทคนิค reverse genetics ในประเทศไทยเพื่อให้สามารถพัฒนา seed virus ได้ เมื่อรู้ว่าไวรัสตัวใดเป็น pandemic strain

    3.2 การพัฒนาวัคซีนที่อาศัย concept อื่น เช่น vectored vaccine หรือวัคซีนที่ target ต่อ conserved region ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่

การเตรียมการระยะยาว
        การเตรียมการระยะยาวด้านวัคซีนของประเทศไทย จะเกี่ยวข้องกับการที่จะทำให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนกได้เอง ซึ่งกิจกรรมที่สำคัญได้แก่ การ establish โรงงานวัคซีนไวรัสชนิดอเนกประสงค์ระดับกึ่งอุตสาหกรรม, การ establish โรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ (ซึ่งคาดว่าจะสามารถ convert ไปสู่การผลิควัคซีนไข้หวัดนกหรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ระบาดใหญ่ได้) รวมถึงการเตรียม facilities ที่จำเป็นอื่น ๆ เช่น hatchery และการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก เพื่อเป็นการสร้างขีดความสามารถของประเทศด้านวัคซีนอย่างแท้จริง

 

<<back