การเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ในด้านฤดูกาลของการเกิดโรคในประเทศไทย: ข้อมูลจากการเฝ้าระวังโดยอิงประชากรเป็นฐาน
Seasonal surveillance in Thailand: data from a population-based surveillance system – Dr. Sonja Olsen

        
เรียบเรียงโดย นพ. ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์


         ไข้หวัดใหญ่มักจะถูกมองว่าเป็นโรคที่ไม่ก่อให้เกิดโรครุนแรงและมักจะเป็นในผู้ใหญ่ แต่ละปีมีการใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคไม่มากนัก แต่จากความสนใจต่อไข้หวัดใหญ่ที่มีเพิ่มขึ้นในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์เนื่องจากไข้หวัดนก (H5N1) และจากความกังวลที่ไวรัสอาจมีการผสมกันระหว่างไวรัสไข้หวัดใหญ่ของคนและไข้หวัดนกทำให้เกิดสายพันธุ์ที่สามารถทำให้เกิดการระบาดได้ กระทรวงสาธารณสุขและศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติ (CDC) สหรัฐอเมริกา ได้ร่วมมือกันจัดทำระบบเฝ้าระวังโดยอิงประชากรเป็นฐาน ในจังหวัดสระแก้วและนครพนมเพื่อศึกษาถึงอัตราอุบัติการณ์ของไข้หวัดใหญ่ ฤดูกาลการเกิดโรค และปัจจัยเสี่ยง พบว่าสามารถแยกหรือยืนยันการวินิจฉัยว่าสาเหตุจากไวรัสที่พบสูงที่สุดคือเชื้อไข้หวัดใหญ่พบถึงร้อยละ 11 จากตัวอย่างที่ตรวจทั้งหมดของผู้ป่วยในที่รับไว้รักษาด้วยปอดบวม และพบถึงร้อยละ 24 จากอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยนอก จากการคำนวณอัตราอุบัติการณ์ต่อปีของผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาล = 111/100,000 ประชากร โดยมี กลุ่มเสี่ยงที่สำคัญคือกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี (437.100,000) และผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 75 ปี (311/100,000) ในการเฝ้าระวังผู้ป่วยนอก อัตราอุบัติการณ์คิดเป็น 1,420/100,000 ในแต่ละปี ไข้หวัดใหญ่พบจำนวนสูงขึ้นในระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับประชากรทั่วไป ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปอดบวมจากไข้หวัดใหญ่ขึ้นกับวัยเด็กทารก ผู้สูงอายุ บุคคลที่มีโรคประจำตัวเช่นโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง และบุคคลที่เคยถูกรับไว้รักษาในโรงพยาบาลในปีที่ผ่านมา คล้ายคลึงกับการศึกษาในสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจะมีการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยในจำนวนที่น้อยอยู่ในประเทศไทย ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะช่วยในการพิจารณากำหนดนโยบายเมื่อมีการใช้วัคซีนมากขึ้น


<<back