การเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่: ประสบการณ์จากสหรัฐอเมริกา
Influenza Surveillance: US experience – Dr. Joseph Bressee นำเสนอโดย Dr. Sonja Olsen, International Emerging Infections Program (IEIP)

        
เรียบเรียงโดย นพ. ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์


        ระบบเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามแนวโน้มและใช้ในการวางแผนรักษาและป้องกันโรค ติดตามภาระของโรคและประเมินผลกระทบของโครงการป้องกันโรค ติดตามสายพันธุ์ของไวรัสเพื่อวางแผนการผลิตวัคซีน เฝ้าระวังการดื้อยาต้านไวรัสรวมทั้งสายพันธุ์ที่อาจผิดแปลกไปจากเดิม

        การประยุกต์ใช้ข้อมูลเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ประกอบด้วยการคัดเลือกสายพันธุ์ที่จะนำมาผลิตวัคซีน ข้อแนะนำการใช้ยาต้านไวรัส การวางแผนทรัพยากรทางสาธารณสุข การกำหนดนโยบายการป้องกันและควบคุมโรค การวางแผนเตรียมรับการระบาดใหญ่ และเป็นข้อมูลที่จะให้ความรู้แก่สื่อมวลชนและประชาชน

        ตัวอย่างรูปแบบของการเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ที่มีการดำเนินการอยู่ในสหรัฐโดยศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติ (CDC) ในปัจจุบันประกอบด้วย การเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการที่มีเครือข่ายในการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสทั้งหมด 125 แห่งทั่วประเทศ การเฝ้าระวังเฉพาะพื้นที่โดยแพทย์และคลินิกจำนวน 2283 แห่งในผู้ป่วยนอกที่มารับการรักษาด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2540 ระบบเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ในระดับมลรัฐโดยหน่วยระบาดวิทยาประจำรัฐเป็นรายสัปดาห์ การเฝ้าระวังโดยข้อมูลสถิติชีพรายงานการเสียชีวิตที่มีสาเหตุจากปอดบวมและไข้หวัดใหญ่ในเมืองทั้งสิ้น 122 แห่ง ระบบเฝ้าระวังการเสียชีวิตในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ. 2548 และระบบเฝ้าระวังการรับผู้ป่วยเด็กไว้ในโรงพยาบาลด้วยโรคติดเชื้ออุบัติใหม่

        ข้อจำกัดของระบบเฝ้าระวังในปัจจุบันคือยังไม่สามารถติดตามประเมินผลกระทบจากวัคซีนได้ง่ายดายนัก นอกจากนี้ระบบยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเช่น การวางแผนเพื่อเตรียมรับการระบาดใหญ่และการวินิจฉัยเพื่อค้นหาไข้หวัดนกในคนอย่างทันท่วงทีจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องต่อไป


<<back