แนวโน้มทั่วไป และสถานการณ์ปัจจุบันของการระบาดของไข้หวัดใหญ่
General and current trend of flu epidemic – Prof. Malik Peiris, Hong Kong

เรียบเรียงโดย นพ. ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์


        นับเป็นความจำเป็นที่การเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่จะต้องมีการดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อหาค่าเฉลี่ยของการเกิดโรค เมื่อมีจำนวนผู้ป่วยสูงผิดปกติจะเป็นตัวชี้บ่งว่าอาจจะมีการระบาดเกิดขึ้น ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการระบาดคือจากตัวเชื้อที่มีการเปลี่ยนแปลงยีนส์ การเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเรียกว่า antigenic drift แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงมากเรียกว่า antigenic shift และปัจจัยจากฤดูกาล ในประเทศทางตะวันตกที่มีอากาศเย็นจะเห็นจำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นชัดเจนในช่วงฤดูหนาว แต่ในประเทศเขตร้อนที่จำนวนผู้ป่วยตามฤดูกาลจะไม่ชัดเจนเท่าจึงอาจทำให้การรายงานผู้ป่วยต่ำกว่าความเป็นจริงได้มากกว่า ข้อมูลระหว่างปี 2539-2542 ในฮ่องกงพบว่าอัตราตายของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สัมพันธ์กับผู้ป่วยสูงอายุมากกว่า 65 ปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีโรคอื่นร่วมด้วยเช่นโรคหัวใจหรือโรคทางเดินหายใจ และเมื่อเปรียบเทียบอัตราตายจากไข้หวัดใหญ่ในฮ่องกงเทียบกับประเทศตะวันตกพบว่าไม่มีความแตกต่างกันในทุกกลุ่มอายุ

        สายพันธ์ของเชื้อไวรัสจะมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เช่น ปี ค.ศ. 1918 พบเชื้อ H1N1 / ค.ศ. 1957 - H2N2 / ค.ศ. 1968 – H3N2 / ค.ศ. 1977 – H1N1 เช่นเดียวกับไวรัสที่พบในสัตว์ปีก ได้แก่สายพันธ์ H9N2 H6N1 และ H5N1 ซึ่งพบการทวีความรุนแรงของอาการขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังพบการติดต่อข้ามชนิดของสัตว์ปีก เช่นสายพันธุ์ H5N1 ติดต่อในห่าน (ค.ศ. 2000) ไก่ (2001) และพบในนกป่า (2002) หลังจากนั้นก็เข้าสู่ฟาร์มไก่ในเอเชียใน ค.ศ. 2004 เป็นต้น ในประเทศที่เชื้อไข้หวัดนกมีการแพร่กระจายจนเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว การแพร่กระจายจะเกิดจากไก่ที่เลี้ยงมากกว่าการนำเข้ามาโดยนกอพยพ ปัญหาของหลายประเทศในเอเชียยังเกิดขึ้นจากไก่ที่เลี้ยงไว้หลังบ้านโดยชาวบ้าน เป็ดไล่ทุ่ง และตลาดสดที่ขายไก่เป็นๆ นอกจากนี้แล้วการแพร่กระจายของเชื้อในสัตว์เลือดอุ่นชนิดอื่นเช่นสุนัข แมว เสือ ก็เป็นคำถามว่าจะมีบทบาทอย่างไรต่อการแพร่เข้าสู่มนุษย์ต่อไป

        ทางด้านอาการทางคลินิกคาดว่าความรุนแรงของโรคไม่ได้ขึ้นกับการติดเชื้อแทรกซ้อนจากแบคทีเรียแต่น่าจะมาจากพยาธิสภาพจากเชื้อไวรัส นอกจากนี้แล้วมีคำถามวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนที่จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อที่มาจากส่วนต่างๆ ของโลกได้หรือไม่ การควบคุมโรคโดยการใช้ยาต้านไวรัส ก็ยังต้องการการพิสูจน์ต่อไป

 

<<back