การใช้ยาต้านไวรัสสำหรับไข้หวัดใหญ่

วิทยากร: แพทย์หญิงพรรณพิศ สุวรรณกูลิ


         ในปัจจุบันโรคไข้หวัดใหญ่ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญโดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาด โดยทำให้เพิ่มอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยที่สูงในประชากรกลุ่มเสี่ยง นอกจากนี้ยังมีผลทางอ้อมต่อทางด้านเศรษฐกิจในแต่ละครั้งที่มีการระบาด เพื่อลดปัญหาดังกล่าวมีการพัฒนายาต้านไวรัสเพื่อนำมาใช้ในการรักษาและป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยยาที่มีใช้ในปัจจุบันมี 2 กลุ่ม คือ M2 inhibitor และ Neuraminidase inhibitor ยาในกลุ่ม M2 inhibitor ได้แก่ Amantadine และ Rimantadine ซึ่งยาทั้งสองได้รับการรับรองเพื่อใช้ในการรักษาและป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ Influenza A ส่วนยาในกลุ่ม Neuraminidase inhibitor ที่มีใช้คือ Oseltamivir และ Zanamivir โดยยาทั้งสองได้รับการรับรองเพื่อใช้ในการป้องกันและรักษาโรค Influenza type A และ B ยาในกลุ่ม Neuraminidase inhibitor จะมีผลข้างเคียงของยาน้อยกว่าและการดื้อยาน้อยกว่ายาในกลุ่ม M2 inhibitor การพิจารณาเพื่อใช้ยาต้านไวรัสในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ ควรพิจารณาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโอกาสเสี่ยงจากอัตราตาย, เจ็บป่วยและการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง ส่วนการพิจารณาให้ยาเพื่อใช้ในการป้องกันการใช้ในประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรค ในกลุ่มทำงานที่สัมผัสกับประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล, Nursing home หรือ Drug care center


         สำหรับยา Oseltamivir เป็นยาในกลุ่ม Neuraminidase inhibitor ที่มีประสิทธิภาพในการลดระยะเวลาในช่วงที่มีอาการของโรค ทำให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น มีข้อดีกว่ายาในกลุ่ม Zanamivir คือยาอยู่ในรูปกิน จึงสามารถใช้ได้ในกลุ่มที่ไม่สามารถทนต่อยา Zanamivir ได้ และนอกจากนี้ยังดีกว่ายาในกลุ่ม M2 inhibitor คือสามารถใช้ในการป้องกันและรักษาได้ทั้งใน Influenza A และ B ขนาดที่ใช้ในการรักษา acute influenza ในผู้ใหญ่คือ 75 mg วันละ 2 ครั้ง ระยะเวลานาน 5 วัน และควรให้ภายในระยะเวลา 2 วันหลังจากที่มีอาการ ขนาดของยาควรปรับลดลงในกรณีผู้ป่วยมีการทำงานของไตบกพร่องที่มี creatinine clearance น้อยกว่า 30 cc/ซม. ไม่จำเป็นต้องลดขนาดของยาในผู้ป่วยสูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาตับทำงานบกพร่อง สำหรับขนาดของการให้ยาเพื่อป้องกันควรให้ขนาด 7 mg วันละครั้งนานอย่างน้อย 7 วัน

 

<<back