ลักษณะทางคลินิกของไข้หวัดใหญ่

วิทยากร: นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีิ


         โรคติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ หรือ บี ก่อความเจ็บป่วยในประชากรโลกทุกเพศ ทุกวัย ประมาณร้อยละ 10-20 เป็นประจำทุกปีและทำให้เสียชีวิตปีละ 250,000-500,000 คน โดยเฉพาะผู้ที่สูงอายุ
อาการและอาการแสดง ระยะฟักตัวประมาณ 1-3 วัน ติดต่อโดยละอองฝอย (droplets) จากผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่อาการและอาการแสดงจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ส่วนใหญ่อ่อนเพลียมากจนปฏิบัติภารกิจประจำวันไม่ได้และอาการต่างๆ จะหายจนปกติภายในระยะเวลาประมาณ 7 วัน หากไม่มีอาการอื่นแทรกซ้อน สำหรับในเด็ก อาการและอาการแสดงขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย โดยทั่วไปมักมีอาการทางเดินหายใจเป็นอาการนำ บางครั้งอาจเป็นไข้เพียงอย่างเดียวแต่บางครั้งในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2-3 ปี ไข้หวัดใหญ่อาจมีอาการ sepsis-like หรือมาด้วยโรคทางเดินหายใจรุนแรง เช่น croup, bronchiolitis, pneumonia หรืออาการชักจนถึงอาการสมองอักเสบ มีข้อสังเกตว่าไข้หวัดใหญ่ชนิด B ในเด็กจะมีอาการรุนแรงมากกว่า เช่น ปวดกล้ามเนื้อน่องมากกว่า สัมพันธ์กับ Reye syndrome

         แต่อย่างไรก็ตามสรุปว่าอาการไข้หวัดใหญ่จะหลากหลายมากและขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างแยกจากโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้ยาก
การวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่ โดยทั่วไปโรคไข้หวัดใหญ่มักเป็นการวินิจฉัยทางคลินิกโดยอาศัยอาการและอาการแสดงเป็นหลักซึ่งมีความไว (ปริมาณร้อยละ 63-78) และความจำเพาะ (ปริมาณร้อยละ 55-71) ค่อนข้างต่ำเนื่องจากมีส่วนคล้ายกับโรคติดเชื้ออื่นๆ อีกหลายโรค ส่วนการวินิจฉัยอื่นๆ เพื่อยืนยันไข้หวัดใหญ่นั้นมักกระทำในกรณีเพื่อประโยชน์ในการเฝ้าระวังของเชื้อไข้หวัดใหญ่เท่านั้น โดยการส่งสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจเพื่อการเพาะเชื้อไวรัสหรือการทำ Specific RT-PCR ต่อ H1, H3 หรือบางรายต่อ H5 ในกรณีสงสัยซึ่งให้ความไวความจำเพาะที่ดีขึ้นมาก ในบางครั้งทางด้านคลินิกมีความจำเป็นต้องตรวจชุดทดสอบชนิดเร็ว (Rapid test) เพื่อประโยชน์ในการดูแล รักษาด้วยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือเพื่อการแยกกักกันผู้ป่วยโดยเฉพาะโรคไข้หวัดนก (H5) เพื่อป้องกันการระบาด การรักษาทางด้านคลินิก โดยทั่วไปไข้หวัดใหญ่หายเองได้ในระยะเวลาประมาณ 7 วัน ดังนั้นการรักษาแบบประคับประคองมีความสำคัญทำให้ผู้ป่วยสบายขึ้นและลดอาการแทรกซ้อน อย่างไรก็ตามปัจจุบันมียาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยควรให้ยานี้แก่ผู้ป่วยภายใน 48 ชั่วโมง หลังเริ่มป่วยจึงจะได้ผลในการลดอาการโรคลง 1-2 วัน แต่ข้อดีคือลดปริมาณการแพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่ให้ผู้อื่นได้ ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่มี 2 กลุ่ม คือ M2 Protein Blocking (amantadine, rimantadine) ซึ่งไม่ค่อยนิยมเพราะดื้อยาและผลข้างเคียงสูง และกลุ่ม Neuraminidase inhibitors (zanamivir, oseltamivir) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความนิยมมากกว่าเพราะเชื้อไข้หวัดใหญ่ดื้อยากลุ่มนี้ต่ำ ผลข้างเคียงต่ำและสามารถรักษาทั้งไข้หวัดใหญ่ชนิดเอและบีได้

 

<<back