การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในสัตว์

วิทยากร: สพ.ญ. ดร. ฉันทนี บูรณะไทย
สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์


        โรคไข้หวัดนกชนิดความรุนแรงสูง (Highly pathogenic avian influenza, HPAI) เป็นโรคใน List A ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) เนื่องจากเป็นโรคที่ก่อความเสียหายอย่างสูงต่อการผลิตสัตว์ปีกและการค้าระหว่างประเทศ โรคไข้หวัดนกยังเป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลไปทั่วโลกนับตั้งแต่การรายงานการติดเชื้อในมนุษย์เป็นครั้งแรกในฮ่องกงเมื่อปี พ.ศ.2540 การเลี้ยงไก่เป็นปศุสัตว์แบบอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีบุคลากรในสายการผลิตประมาณ 400,000 คน ทั้งนี้ยังไม่รวมบุคลากรที่อยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ดังนั้นกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทั้งเชิงรับและเชิงรุกมานานกว่า 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2540-2545 มีตัวอย่างจากระบบการเฝ้าระวังเชิงรับทั้งสิ้น 3 ,600 ตัวอย่าง และ จากระบบการเฝ้าระวังเชิงรุก 912 ตัวอย่าง (pooled-sample) จำแนกเป็นตัวอย่างจากการชันสูตรโรคสัตว์ปีกจำนวน 1,641 ตัวอย่าง ไม่มีตัวอย่างใดตรวจพบเชื้อไข้หวัดนก ระบบการเฝ้าระวังเชิงรุกได้รับตัวอย่างจาก 398 ฝูงซึ่งเป็นตัวอย่างจากสัตว์ปีกที่มีอาการปกติ จำนวน 23,880 ตัวจากหน้าโรงเชือด ไม่พบเชื้อไข้หวัดนกในทุกตัวอย่าง นอกจากนี้ ตัวอย่างที่เก็บจากนกสวยงามเพื่อการส่งออกจำนวน 514 ตัว ก็ไม่มีตัวอย่างใดพบเชื้อไข้หวัดนก จากการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ระหว่างปี พ.ศ. 2540-2546 ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงถึงการติดเชื้อไข้หวัดนกในประเทศไทย


        จนกระทั่งวันที่ 23 มกราคม 2547พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในฟาร์มไก่ไข่แห่งหนึ่ง ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี และพิสูจน์ได้ว่าเป็นเชื้อไข้หวัดนกชนิดรุนแรงสูง H5N1 ในการระบาดรอบที่หนึ่ง (ระยะเวลา 5 เดือน 23 มกราคม – 24 พฤษภาคม 2547) พบเชื้อไข้หวัดนก 190 ราย ใน 42 จังหวัด จุดเกิดโรคส่วนมากเขตภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบประปรายในเขตภาคเหนือตอนบน และพบเพียง 1 รายในเขตภาคใต้ สัตว์ปีกที่ติดเชื้อจำแนกเป็น ไก่พื้นเมือง 58.5% ไก่ไข่ 12.4% ไก่เนื้อ 11.9% เป็ด 6.7% ห่าน 0.5% ที่เหลือเป็นนกกระทาและสัตว์ปีกชนิดอื่นๆ หลังจากนั้นไม่มีรายงานการเกิดโรคประมาณ 6 สัปดาห์ การระบาดรอบที่สอง (ระยะเวลา 9 เดือน ระหว่าง 3 กรกฎาคม 2547 – 12 เมษายน 2548) เริ่มต้นเมื่อ 3 กรกฎาคม 2547 ในฟาร์มไก่ไข่แห่งหนึ่ง ที่อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ใน 51 จังหวัด ส่วนมากจะเป็นจังหวัดในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง ส่วนมากพบการติดเชื้อในไก่พื้นเมือง (57%) รองลงมาคือเป็ด (29.2%) ไก่เนื้อ (5.2%) ไก่ไข่ (4.63%) นกกระทา (1.99%) ที่เหลือเป็นสัตว์ปีกชนิดอื่นๆ (1.93%) การระบาดจะพบในไก่ที่เลี้ยงหลังบ้านและในเป็ดไล่ทุ่งเป็นส่วนใหญ่ มีจำนวนสัตว์ในแต่ละฝูงไม่มาก (ต่ำกว่า 500 ตัว) หลังจากนั้นโรคจึงสงบเกือบ 3 เดือน จนพบรายแรกของการระบาดรอบ 3 ในวันที่ 1 กรฎาคม 2548 การระบาดในปัจจุบันพบว่าเบาบางลงมากและพบเฉพาะในไก่พื้นเมือง และผู้เลี้ยงรายย่อย จาก 1 กรกฏาคม – 25 สิงหาคม 2548 พบเพียง 23 ราย ใน 3 จังหวัดคือ สุพรรณบุรี กำแพงเพชร และ ชัยนาท ซึ่งเป็นจังหวัดเดิมที่เคยเกิดการระบาดทั้ง 2 รอบ

        นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาติดตามการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของไวรัส H5N1เป็นระยะๆ ผลการวิเคราะห์แผนภูมิต้นไม้ (Phylogenetic analysis) ของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกในประเทศไทยเปรียบเทียบกับเชื้อไวรัสไข้หวัดนกของฮ่องกงและประเทศอื่นๆที่มีรายงานระหว่างปี 2001-2004 พบว่าเชื้อ H5N1 ของประเทศไทยมีความคล้ายคลึงกับไวรัสที่พบที่เวียตนามในปี 2547 มากที่สุด มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความรุนแรงของโรคสูง (Highly Pathogenic Avian Influenza, HPAI) ได้แก่ ตำแหน่งที่โปรตีนฮีเมกลูตินินจะถูกตัดมีกรดอมิโนที่เป็นเบสเรียงตัวอยู่หลายโมเลกุล ที่ยีน นิวรามินิเดส มีรหัสพันธุกรรม (codon)หายไป 20 รหัส ที่ยีน เอ็นเอส มีรหัสพันธุกรรม หายไป 5 รหัส และที่ยีน เอม-ทู และ พีบี-ทู มีลักษณะ Polymorphism จากการถอดรหัสพันธุกรรมและศึกษาแผนภูมิต้นไม้ของไวรัสไข้หวัดนกทั้งหมดรวมทั้งเชื้อที่แยกได้จากเสือที่ ไม่พบว่ามีความแตกต่างจากไวรัสที่พบในตอนต้นของการระบาดคือมกราคม 2004 ไม่พบการเปลี่ยนจากฮีสติดีนเป็นไทโรซีนที่ตำแหน่ง 274 ของโปรตีนนิวรามินิเดส หลังจากให้การรักษาด้วยยา โอเซทามิเวียร์ สำหรับไวรัสที่แยกได้จากเสือพบว่ามีการเปลี่ยนกรดอะมิโนไป 1 ตำแหน่ง คือที่ยีน พีบี-ทูมีการเปลี่ยนจากกลูตามีนเป็นไลซีนที่ตำแหน่ง 627 ซึ่งตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่บ่งชี้ถึงการก่อโรคในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นอกจากนี้ยังพบว่าที่ยีน เอ็นเอส มีรหัสพันธุกรรม หายไป 5 รหัสเช่นเดียวกับไวรัสอื่นๆที่แยกได้ในการระบาดของประเทศไทย จาการติดตามศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดนกในประเทศไทยไม่ว่าพบการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่สำคัญ
มาตรการการควบคุมโรคที่ดำเนินการอยู่คือ การทำลายสัตว์ปีกเฉพาะในรายที่สงสัยไข้หวัดนก ให้ค่าชดเชยเท่าที่กฎหมายกำหนดคือ 75% ของราคาในท้องตลาด เพิ่มประสิทธิภาพการรายงานโรค การเข้าทำลายสัตว์ที่สงสัยและการฆ่าเชื้อโรคอย่างรวดเร็ว เพิ่มศักยภาพในการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังเชิงรุก มีการดำเนินการที่สำคัญตามบัญชาของฯพณฯ นายกรัฐมนตรีคือ “โครงการเอ็กซเรย์”ซึ่งหมายถึงการเฝ้าระวังเชิงรุกทางอาการในทุกครัวเรือนพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 3 รอบ


        เมื่อเปรียบเทียบการระบาดทั้งสองรอบ พบว่าในการระบาดรอบที่สองมีความพร้อมมากกว่าในทุกๆด้าน โดยเฉพาะการปรับปรุงมาตรการต่างๆโดยใช้ประสบการณ์และข้อมูลที่ได้จากการระบาดในรอบแรก ความร่วมมือและการประสานงานจากหน่วยงานของกระทรวงต่างๆ นอกจากนี้ยังมีมาตรการที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่การส่งเสริมให้มีการปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์ปีกให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานมีระบบป้องกันโรคเข้าฟาร์มโดยสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความร่วมมือด้านเงินกู้แก่เกษตรกร มีการจัดระบบโซนนิ่งแบ่งพื้นที่การเลี้ยงสัตว์ปีกตามภาวการณ์เกิดโรคไข้หวัดนกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และการวางมาตรการในการเฝ้าระวังและป้องกันโรค สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การสร้างองค์ความรู้ กำหนดแผนเตรียมความพร้อมกรณีเกิดการระบาดใหญ่ มาตรการต่างๆเหล่านี้มีผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจนได้แก่การลดอุบัติการณ์และพื้นที่การเกิดโรค และไม่มีการติดเชื้อสู่ประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ป่วยรายสุดท้ายมีรายงานเมื่อ 4 ตุลาคม 2547

 

<<back