สถานการณ์ล่าสุดของโรคไข้หวัดใหญ่

วิทยากร: Alan W. Hampson
ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกเพื่อการอ้างอิงและการวิจัยเรื่องไข้หวัดใหญ่
เมือง Melbourne ประเทศออสเตรเลีย
www.influenzacentre.org

        โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างรุนแรงในคนซึ่งแพร่ระบาดไปทั่วโลก โดยไม่มีฤดูการระบาดที่แน่นอน แต่มักจะระบาดมากในช่วงฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิปานกลางและเย็น และระบาดน้อยในช่วงอากาศร้อน คนสามารถติดเชื้อโรคนี้ซ้ำได้อีก เนื่องจากไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถเปลี่ยนแปลงโปรตีนสำคัญที่ผิวของไวรัส หรือสารตัวเชื้อที่ระบบภูมิคุ้มกันของคนเรารู้จักแล้วทำให้มีลักษณะเปลี่ยนไป โรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดอย่างรุนแรงในคนมีอยู่ 2 สายพันธุ์หลัก คือ ไข้หวัดใหญ่ A และไข้หวัดใหญ่ B โดยไข้หวัดใหญ่ A มีสายพันธุ์แยกย่อยไปตามสารตัวเชื้อ haemagglutinin (H) ที่แตกต่างกัน ไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ 2 รูปแบบคือ แบบที่เปลี่ยนแปลงภายในตัวเองโดยมิได้กลายสายพันธุ์ (antigenic drift) และแบบที่เปลี่ยนแปลงจนเกิดการกลายพันธุ์ (antigenic shift) ทั้งไข้หวัดใหญ่ A และ B มักจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบ antigenic drift ซึ่งเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงสารตัวเชื้อซึ่งเป็นสาเหตุของการระบาดประจำปีและการระบาดที่พบได้บ่อยๆ นอกจากนี้ ไข้หวัดใหญ่ A อาจจะมีการกลายพันธุ์ (antigenic shift) โดยเปลี่ยนแปลงสารตัวเชื้อโดยสิ้นเชิงจนกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่และแพร่ระบาดในมนุษย์ โดยการกลายพันธุ์นี้อาจเกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดการณ์ไว้ซึ่งก็เกิดไม่บ่อยนัก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะทำให้เกิดโรคระบาดชนิดต่างๆ อย่างรุนแรงไปทั่วโลก ปัจจุบันนี้มีเชื้อไวรัสไขัหวัดใหญ่ 3 กลุ่มใหญ่ๆ ที่ระบาดในคน โดยเป็นสายพันธุ์ย่อยของเชื้อไข้หวัดใหญ่ A จำนวน 2 กลุ่ม คือ H1 และ H3 และอีกกลุ่มคือไข้หวัดใหญ่ B ทั้งนี้ไข้หวัดใหญ่ A (H3) มักเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตมากที่สุดโดยเชื้อมีการเปลี่ยนแปลงแบบ antigenic drift ได้เร็วกว่าไวรัสตัวอื่น ซึ่งทำให้ต้องมีการผลิตวัคซีนตัวใหม่อยู่เสมอ แต่ดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงของเชื้อยังมีลักษณะที่เกี่ยวโยงกับเชื้อที่มีสายพันธุกรรมใกล้เคียงกันที่มีการระบาดอยู่ ในทางกลับกันไวรัส A (H1) และ B มักจะไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งสามารถแพร่เชื้อได้ในระยะเวลานาน สำหรับกรณีของไข้หวัดใหญ่ B ซึ่งมีสายพันธุกรรม 2 สายซึ่งยากที่จะคาดการณ์ว่าจะเกิดการระบาดขึ้นเมื่อไหร่ จึงทำให้ผลิตวัคซีนป้องกันยาก

        ปัจจุบันมีการพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ 16 สายพันธุ์ย่อย (H ชนิดต่างๆ) ของไข้หวัดใหญ่ A โดยทั้งหมดนี้เป็นเชื้อที่สามารถอยู่ได้ในนกและนกน้ำ โดยทั่วไปไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่บางสายพันธุ์ย่อยสามารถข้ามไปติดสัตว์ชนิดอื่นได้ รวมถึงคนซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่รุนแรงได้ ถึงแม้มีหลายสายพันธุ์ย่อยที่สามารถติดเชื้อในสัตว์ปีกพื้นบ้าน แต่มี 2 สายพันธุ์ย่อย คือ H5 และ H7 ที่ทำให้เกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรงไม่นานหลังการติดเชื้อในไก่หรือไก่งวง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสารโปรตีน haemagglutinin ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นจนกลายเป็นไข้หวัดนกชนิดรุนแรง (HPAI) ในทศวรรษที่ผ่านมา มีการระบาดของไวรัสเหล่านี้ในฝูงสัตว์เฉพาะในยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย เป็นระยะๆ ตั้งแต่ ค.ศ. 1994 มีการระบาดถี่ขึ้นและมีระยะการระบาดนานขึ้น รวมถึงการระบาดใหญ่อย่างไม่เคยมีมาก่อนในเอเชีย และใน ค.ศ. 1997 มีการติดเชื้อ H5 ในคนซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการระบาดในสัตว์ปีกในฮ่องกงเป็นครั้งแรก จากการที่ไม่สามารถรู้แน่ชัดว่ามีการถ่ายทอดของไวรัสโดยตรงจากสัตว์สู่คนหรือไม่ และจากความเข้าใจในขณะนี้เกี่ยวกับที่มาของสายพันธุ์ที่ระบาดในศตวรรษที่ 20 ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าอาจจะเกิดการระบาดใหญ่ได้อีก เนื่องจากไวรัส H5 สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองและแพร่กระจายไปเกือบทั่วทวีปเอเชีย ทำให้เกิดการติดเชื้อในคนและมีอัตราการเสียชีวิตสูง ขณะนี้มีผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อจำนวน 112 คน ในจำนวนนี้ เสียชีวิตถึง 57 คน (องค์การอนามัยโลก วันที่ 8 พฤษภาคม 2548) สิ่งที่เกี่ยวข้องกับการระบาดเหล่านี้ คือการพบ HPAI ครั้งแรกในนกน้ำ (เป็ด) ซึ่งเชื้ออาจจะอยู่ในตัวเป็ดโดยไม่แสดงอาการ แต่เกิดการติดเชื้อในนกป่าที่ย้ายถิ่นฐานมาจากประเทศจีน จากนั้นก็มีการแพร่ของเชื้อไปที่ประเทศรัสเซีย และเพิ่งมีรายงานการติดเชื้อในมองโกเลีย และคาซัคสถาน องค์การอนามัยโลกเห็นว่าการติดตามและควบคุมไข้หวัดใหญ่ H5 เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันการระบาดใหญ่

 

<<back