Pandemic Preparedness Plan for Thailand

วิทยากร: Dr. Supamit Chunsuttiwat
Dept. of Disease Control, Thai MOPH

         จากปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2546 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนัก คือ การระบาดดังกล่าวอาจนำไปสู่การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ผ่านมามีรายงานการพบผู้ป่วยในลักษณะเป็นกลุ่มก้อน (cluster) ในครอบครัวเดียวกันในหลายประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ไทย กัมพูชา และอินโดนีเชีย โดยเฉพาะในประเทศเวียดนาม พบหลักฐานสำคัญหลายประการ ที่อาจแสดงถึงว่ามีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก หรือมีลักษณะการติดต่อของโรคจากคนสู่คน เช่น พบผู้ป่วยไข้หวัดนกที่มีลักษณะเป็น cluster จำนวนหลาย cluster พบผู้ป่วยรายแรกและรายสุดท้ายใน cluster ที่มีระยะเวลาการเจ็บป่วยที่ห่างกันมากขึ้น พบผู้ป่วยที่มีอาการทางคลินิกไม่รุนแรง มีผู้ป่วยในอายุที่แตกต่างไปจากเดิม อัตราป่วยตายที่ลดลง ในขณะที่ผลการศึกษาด้านอณูชีววิทยาของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกมีการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรม

         สำหรับประเทศไทย หากสมมติสถานการณ์ว่า เกิดการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศโดยสมมติให้อัตราป่วยของโรคไข้หวัดใหญ่เท่ากับร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ และอัตราป่วยตายเท่ากับร้อยละ 1 ดังนั้น จะมีผู้ป่วยเกิดขึ้น 6,500,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 65,000 คน ในขณะที่หากสมมติอัตราป่วยเท่ากับร้อยละ 40 และอัตราป่วยตายเท่ากับร้อยละ 1 จะมีผู้ป่วยเกิดขึ้น 26,000,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 260,000 คน การระบาดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรง ในขณะที่หากสมมติสถานการณ์ว่า เกิดการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Klaus Stohr, citing Meltzer et al 1999) จะมีผู้ป่วยประมาณ 500 ถึง 1,253 ล้านคน มีผู้ต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในประมาณ 6.4 ถึง 28.1 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 2 ถึง 7.4 ล้านคน น่าเชื่อว่าประเทศในเอเซียและแปซิฟิก จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากที่สุด

         แนวคิดพื้นฐานในการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ ต้องมีความเชื่อมั่นว่า การระบาดใหญ่สามารถป้องกันได้ โดยการเร่งควบคุมการระบาดในสัตว์ปีก ป้องกันการแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน การค้นหาผู้ป่วยพบโดยเร็ว มีการเฝ้าระวังโรคที่มีความไวสูง การควบคุมโรคอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ถ้าหากเกิดการระบาดใหญ่ในคน ต้องสามารถชะลอการแพร่ขยาย และบรรเทาความเสียหายได้ โดยมาตรการทางสาธารณสุข เช่น ใช้หน้ากากอนามัย ล้างมือ ปิดสถานที่ชุมชน จำกัดการเดินทาง การดูแลรักษาผู้ป่วย ร่วมกับมาตรการทางสังคมอื่น ๆ สร้างความสามารถพึ่งตนเองในระยะยาว เช่น การใช้วัคซีน ยาต้านไวรัส รวมถึง สิ่งสำคัญ คือการจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ สำหรับแผน ดังกล่าว มีการกำหนดกิจกรรมหลักตามยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การเฝ้าระวังโรคในคนและในสัตว์ (Surveillance) โดยมีแผนเร่งรัดการเฝ้าระวังโรค สอบสวนผู้ป่วย ค้นหาผู้สัมผัสและกลุ่มเสี่ยง เชื่อมโยงข้อมูลอย่างเป็นระบบ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการเฝ้าระวังโรค ได้แก่ แพทย์ ห้องปฏิบัติการ เสริมศักยภาพและการเฝ้าระวังในชุมชน ยุทธศาสตร์การเตรียมเวชภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ที่จำเป็น (Stockpile & Logistics) โดยมีแผนจัดหา พัฒนาระบบคลังเวชภัณฑ์ วัสดุ อุปกรณ์ มีแผนวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีน ยาต้านไวรัส กำหนดหลักเกณฑ์การกระจายเวชภัณฑ์ วัสดุ สู่กลุ่มเป้าหมาย ยุทธศาสตร์เตรียมความพร้อมควบคุมการระบาดฉุกเฉิน (Emergency response) มีแผนด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข อาสาสมัคร ให้พร้อมดูแลผู้ป่วย เสริมความพร้อมของสถานพยาบาล จัดระบบดูแลผู้ป่วยกรณีเกิดการระบาดใหญ่ จัดระบบการให้วัคซีนและยาต้านไวรัส สำหรับในด้านชุมชน (Community response) มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการระดับจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจ แผนจัดเตรียมมาตรการฉุกเฉิน เช่น จำกัดการเดินทาง การปิดสถานที่สาธารณะ การช่วยเหลือในภาวะขาดแคลน การจัดการศพจำนวนมาก การประชาสัมพันธ์ลดความตื่นตระหนกของประชาชน ยุทธศาสตร์ประชาสัมพันธ์ สร้างส่วนร่วมของชุมชน (Communications & community involvement) มีแผนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการป้องกันโรคและการดูแลสุขภาพ ส่งเสริมกิจกรรมรณรงค์ให้สุขศึกษา ประชาสัมพันธ์ พัฒนาทักษะด้านการ สื่อสารความเสี่ยงแก่บุคลากร มีการประสานการให้ข้อมูลข่าวสารกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดแผนการติดต่อสื่อสาร และพัฒนาระบบสื่อสารและสร้างเครือข่ายกับสื่อมวลชน และยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแบบบูรณาการ (Integrated management) มีแผนพัฒนากลไกการจัดการในภาวะวิกฤติ ประกาศเขตติดโรคและพื้นที่ภัยพิบัติ ระดมและกระจายทรัพยากรทั้งด้านการเงินและอื่น ๆ สำหรับสนับสนุนการ ดำเนินงานฝึกซ้อมแผนบริหารจัดการ มีผังบัญชาการควบคุมการระบาดใหญ่ของ ไข้หวัดใหญ่ (National command & coordination for disaster response) มีระบบสั่งการ ประสาน สนับสนุน ติดตามกำกับ และรายงาน ระบบการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการทำงานร่วมกันกับอาสาสมัครสาธารณสุขและผู้นำชุมชน สิ่งสำคำคัญของแผน คือต้องมีการซ้อมแผนในระดับต่าง ๆ ได้แก่ ระดับประเทศ จังหวัด รวมถึงในระดับพื้นที่ โดยอาจใช้รูปแบบการซ้อมตามความเหมาะสม เช่น Table-top, Drills หรือ Full-scale exercise

         ความร่วมมือในภูมิภาคสำหรับการการเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การเตรียมการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสำรองยาต้านไวรัส (Antiviral stockpile) การเตรียมความพร้อมด้านวัคซีน (Vaccine capacity development) การวิจัยและพัฒนา (Rsearch and development)

         การเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ จะสามารถป้องกัน หรือบรรเทาความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งในด้านการแพทย์และสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความมั่นคงของประเทศ ความร่วมมือที่ต้องการเร่งด่วนในขณะนี้ คือการเตรียมความพร้อมร่วมกันในการบริหารยาต้าน ไวรัสอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เพียงพอในกรณีเกิดการระบาดใหญ่

 

<<back