การปรับปรุงแผนการเตรียมพร้อมในระดับสากล

วิทยากร: โดย Alan W. Hampson
ศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลกเพื่อการอ้างอิงและการวิจัยเรื่องไข้หวัดใหญ่
เมือง Melbourne ประเทศออสเตรเลีย
www.influenzacentre.org


        ถึงแม้ว่าองค์การอนามัยโลก โดยโครงการเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ได้ริเริ่มให้มีการวางแผนการรับมือการระบาด ในปี ค.ศ. 1947 แต่ทว่าการระบาดใหญ่ในปี ค.ศ. 1957 และ ค.ศ. 1968 และความวิตกกังวลของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ในปี ค.ศ. 1976 ทำให้เห็นว่าหน่วยงานทั้งระดับประเทศและหน่วยงาน ระหว่างประเทศยังขาดการเตรียมพร้อมที่ดีในการรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ การวางแผนในระดับสากลเป็นครั้งแรกได้เริ่มขึ้นระหว่างการประชุมของประเทศในแถบยุโรปครั้งที่ 7 เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่และการป้องกันในปี ค.ศ. 1993 และได้มีการผลักดันให้มีการจัดทำแผนนี้ให้เร็วขึ้นเมื่อเกิดการติดเชื้อ H5 ในคนที่ฮ่องกงเมื่อปี ค.ศ. 1997 โดยองค์การอนามัยโลกได้จัดพิมพ์แผนการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่เป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน ค.ศ. 1999

        แผนฉบับแรกขององค์การอนามัยโลกได้มุ่งเน้นในเรื่องบทบาทขององค์การอนามัยโลกในช่วงก่อนเกิดการระบาดและในช่วงการระบาดของโรค รวมถึงบทบาทของหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขระดับชาติ ซึ่งองค์การอนามัยโลกจะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนรับมือการระบาดของโรคอย่างเป็นลำดับขั้นตอน รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับความเป็นมาของการระบาดของโรค เกี่ยวกับตัวโรคและอาการแทรกซ้อน และวิธีการให้วัคซีนและยาต้านไวรัสที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น amantadine และ rimantadine

        ตั้งแต่มีการจัดพิมพ์แผนขององค์การอนามัยโลก ก็มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นซึ่งควรกล่าวถึงดังนี้

  • การผลิตยาต้านไวรัสชนิดใหม่
  • การพิจารณาปัญหาในการผลิตวัคซีนที่จะใช้เมื่อเกิดการระบาด หากใช้วิธีการผลิตแบบที่ใช้ในปัจจุบัน
  • การระบาดของโรคชนิดใหม่ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจอย่างรุนแรง หรือ ซาร์ส
  • การระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ H7 และ H5 ในคนหลายราย และ เชื้อ H5 ก็ได้แพร่ในหมู่สัตว์ปีกในประเทศแถบเอเชีย

        เพื่อเป็นการแก้ไขเหตุการณ์ข้างต้น องค์การอนามัยโลกได้มีการประชุมหารือและจัดพิมพ์แผนการแตรียมพร้อมการระบาดของไข้หวัดใหญ่ที่ปรับปรุงใหม่ (ค.ศ. 2005) ซึ่งแก้ไขระยะต่างๆ ของการระบาดและมาตรการที่เหมาะสมสำหรับรับมือกับการระบาด

        นอกจากนี้ สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและความไม่สมบูรณ์ของแผนเดิม ทำให้มีการจัดพิมพ์เอกสารเพิ่มเติมที่กล่าวถึงประเด็นต่างๆ ของการระบาด ดังนี้

  • แนวทางในการใช้วัคซีน และยาต้านไวรัสในช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ (ค.ศ. 2004)
  • คำปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการในการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด (ค.ศ. 2004)
  • ไข้หวัดนก: การประเมินสถานการณ์การระบาด (ค.ศ. 2005)
  • แนวทางขององค์การอนามัยโลกในเรื่องการพัฒนาวัคซีนจากเชื้อไวรัสโดยวิธี reverse genetics (ค.ศ. 2005)
  • แบบรายการตรวจสอบความพร้อมขององค์การอนามัยโลกสำหรับการวางแผนการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือของการระบาดของไข้หวัดไหญ่ (ค.ศ. 2005)

        ทั้งนี้ จะต้องมีการทบทวนเนื้อหาของเอกสารเหล่านี้รวมทั้งขั้นตอนการวางแผนในระดับนานาชาติเป็นระยะ

 

<<back