Surveillance and Response in Thailand

วิทยากร: Dr. Kumnuan Ungchusak
Director, Bureau of Epidemiology


        ไข้หวัดใหญ่ได้รับการยอมรับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขหลังการตรวจพบว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เนื่องจากมีข้อสันนิษฐานว่า การระบาดของเชื้อไข้หวัดนก Influenza A H5N1 ทั้งในสัตว์และในคนจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ (Pandemic influenza) หลักการป้องกันและควบคุมการระบาดของไข้หวัดใหญ่ คือ ลดการแพร่เชื้อในคน และเร่งรัดฉีดวัคซีนในประชาชนกลุ่มเสี่ยง ดังนั้นเป้าหมายของการเฝ้าระวังจึงอยู่ที่ การตรวจจับการแพร่เชื้อจากคนสู่คนและควบคุมการแพร่เชื้อให้สิ้นสุดภายใน 2 เท่าของระยะฟักตัว
ระบบเฝ้าระวังที่มีอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ ประกอบด้วย ระบบการเฝ้าระวังผู้ป่วยผ่านการรายงาน506

        ระบบการเฝ้าระวังเชื้อไข้หวัดใหญ่ร่วมกับองค์การระหว่างประเทศที่เรียกว่า FluNet ระบบการเฝ้าระวังไข้หวัดนก โดยกรมควบคุมโรคได้กำหนดเกณฑ์ที่ต้องดำเนินการสอบสวนอยู่ 3 กรณีคือ ผู้ป่วยปอดอักเสบเสียชีวิตทุกราย, กลุ่มก้อนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่หรือปอดอักเสบ, และผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนกทุกราย

         การเฝ้าระวังในปี 2548 พบว่า ระบบรายงานผู้ป่วย 506 ในภาพรวมของประเทศ จำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบไม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ5ปี ผู้ป่วยปอดอักเสบส่วนมากเป็นเด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี อัตราป่วยตายสูงในผู้ป่วยสูงอายุ ตั้งแต่65ปีขึ้นไป ซึ่งสถานการณ์ไม่แตกต่างจากช่วงปี 2540-2544

         ระบบเฝ้าระวังไข้หวัดนก พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 16 สิงหาคม 2548 มีผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดนกทั้งสิ้น 809 ราย เสียชีวิต 86 ราย จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยเฝ้าระวังสูงสุดคือจังหวัด สุพรรณบุรี, สุโขทัย, กำแพงเพชร, พิษณุโลก และอุตรดิตถ์ ผู้ป่วยทั้งหมดตรวจไม่พบสารพันธุกรรมของไข้หวัดนก (Influenza A H5N1) มีผู้ตรวจ PCR พบ Influenza A H1 จำนวน 26 ราย, Influenza A H3 จำนวน 70 ราย, Influenza B จำนวน 85 ราย ส่วนในกลุ่มผู้เสียชีวิต 86 ราย ตรวจ PCR พบ Influenza A H1 1 ราย, Influenza A H3 2 ราย, Influenza B 1 ราย

         ได้มีการสอบสวนกรณีการะบาด 3 ครั้ง คือ การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในโรงพยาบาลจิตเวช Influenza A, การระบาดของไข้หวัดใหญ่ Influenza A (H3N2) ในบุคลากรของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง, การระบาดของไข้หวัดใหญ่ Influenza B ที่มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ความทันเวลาในการสอบสวนควบคุมการะบาดพบว่า การสอบสวนเริ่มดำเนินการหลังมีการระบาด 2-3 สัปดาห์ ซึ่งหากเป็นการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่แพร่เชื้อและรุนแรงอาจช้าเกินไปที่จะควบคุม

         อุปสรรคและความท้าทายของการเฝ้าระวังเพื่อควบคุมการระบาดของไข้หวัดใหญ่มีหลายประการตั้งแต่ การตรวจพบแหล่งรังโรคในเป็ดที่ไม่มีอาการ และการจัดการอุตสาหกรรมการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง การพบกลุ่มก้อนผู้ป่วยไข้หวัดนกเพิ่มขึ้นซึ่งบ่งชี้ความสามารถในการแพร่เชื้อจากคนสู่คนที่เพิ่มขึ้นของเชื้อ และทำอย่างไรจึงจะมีระบบเฝ้าระวังที่เข้มแข็งยั่งยืน มาตรการเร่งด่วนในปัจจุบันเร่งรัดให้มีการสอบสวนผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรงไม่ทราบสาเหตุ กลุ่มก้อนผู้ป่วยปอดอักเสบ ปอดอักเสบในบุคลากรทางการแพทย์ และการระบาดของอาการไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยตั้งแต่ 5 ราย ซึ่งมาตรการดังกล่าวจำเป็นต้องมีการประเมินประสิทธิภาพเพื่อการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังควบคุมโรคต่อไป


<<back