การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่

วิทยากร: Dr.Anne Moen
ศูนย์ควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา
เรียบเรียงโดย รศ.นท.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
18 สิงหาคม 2548


        การเฝ้าระวังโรค หมายถึง การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคอย่างต่อเนื่อง วิเคราะห์และแปลผลข้อมูล เพื่อนำไปวางแผน นำไปใช้อย่างแพร่หลาย และประเมินผล
        การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลด้านสายพันธุ์ของไวรัสที่ก่อโรค สถานที่ และระยะเวลาในการเกิดโรค ความรุนแรงและผลกระทบของโรค ตลอดจนทราบถึงเหตุการณ์การเกิดโรคที่ผิดไปจากปกติ ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเลือกสายพันธุ์ของไวรัสเพื่อนำไปใช้ผลิตวัคซีน การรักษาโรค การวางแผนเพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ เป็นต้น
        การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ยังมีปัญหาที่น่าท้าทายอีกหลายประการ อาทิ ข้อจำกัดในการทราบจำนวนผู้ป่วยที่แน่นอน การวินิจฉัยแยกโรคจากโรคของระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยบางราย (ปอดบวม การติดเชื้อแทรกซ้อน) การเก็บตัวอย่างและจำนวนตัวอย่างที่เหมาะสมเพื่อการเพาะเชื้อ และการตรวจทางซีโรโลยี การรายงานข้อมูลการเฝ้าระวัง เป็นต้น

การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่

  1. การเฝ้าระวังในแง่ไวรัสวิทยา ทำให้ได้ข้อมูลด้านสายพันธุ์ที่ก่อโรค การนำข้อมูลไปใช้ในการผลิตวัคซีน การคาดคะเนการระบาดใหญ่ และฤดูกาลในการเกิดโรค ซึ่งมีประโยชน์ในการผลิตวัคซีนสำหรับซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้
  2. การเฝ้าระวังในแง่การเกิดโรค ประกอบด้วย
    2.1 ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง ซึ่งอาจไม่ได้มาพบแพทย์หรือมารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก
    2.2 ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ส่วนใหญ่ได้รับไว้รักษาแบบผู้ป่วยใน และมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งเสียชีวิต

เครือข่ายในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ประกอบด้วย

  1. ศูนย์เฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ ทำหน้าที่เก็บรวบรวมตัวอย่าง และรายงานจำนวนผู้ป่วยในรูปแบบต่าง ๆ
  2. ศูนย์ความร่วมมือโรคไข้หวัดใหญ่ ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังฯ และให้ข้อมูลแก่บริษัทผู้ผลิตวัคซีน
  3. สำนักงานใหญ่ องค์การอนามัยโลก ณ กรุงเจนีวา

การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ของศูนย์ควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา
ศูนย์ควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล การเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ในระดับรัฐ ระดับประเทศ และระดับโลก

ข้อมูลเบื้องต้นสรุปได้ว่า

  1. โรคไข้หวัดใหญ่อาจมีความรุนแรงมากในเด็กเล็กและผู้ใหญ่ ผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนทางปอด และผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเสียชีวิต
  2. วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ควรได้รับการพิจารณาใช้ในประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในการเกิดโรคที่รุนแรง

 

<<back