Overview of APACI and Influenza Vaccination Situation Across Asia

วิทยากร: Dr Lance Jennings
Clinical Virologist, Chairman, APACI
ผู้สรุปคำบรรยาย: นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ


        Asia Pacific Advisory Committee on Influenza (APACI) ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2544 มีพันธกิจส่งเสริมให้ประเทศในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกเกิดความตระหนักและพัฒนาการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ คณะกรรมการ APACI ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ด้านระบาดวิทยา ด้านห้องปฏิบัติการ และด้านสาธารณสุข APACI มีสมาชิกจาก 13 ประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกเป็นที่ปรึกษา

        APACI มีวัตถุประสงค์การดำเนินงานเพื่อให้บุคลากรด้านการแพทย์ในภูมิภาคตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา เพื่อเตรียมองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อช่วยเหลือการควบคุมป้องกันโรค เพื่ออำนวยความสะดวกในการตระเตรียมวัคซีน และเพื่อพัฒนากิจกรรมตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกิจกรรมที่ได้ดำเนินการสอดคล้องกับโครงการด้านโรคไข้หวัดใหญ่ของ องค์การอนามัยโลก ในเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่

        APACI ได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพในการเฝ้าระวัง พัฒนาความเข้าใจในแง่ผลกระทบด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพการเตรียมความพร้อมในระดับประเทศ ขยายความครอบคลุมในการใช้วัคซีน ติดตามและรายงานข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงไป APACI ได้มีการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของฤดูกาลกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่และนโยบายการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ รวมถึงเผยแพร่ผลงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง เช่น ขั้นตอนวิธีการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ข้อมูลอัตราการเข้ารับการเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยในของกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ ผลการศึกษาถึงประโยชน์ของวัคซีนในการลดการเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยในและการเสียชีวิต ข้อมูลความสัมพันธ์ของฤดูกาลกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ สถานการณ์การใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในประเทศต่าง ๆ ปริมาณการฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศจะเป็นไปตามนโยบายคำแนะนำการฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบประกาศ

        ในขณะนี้ประเทศที่มีการใช้วัคซีนในระดับที่สูงคือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี (ประมาณ 100 โด๊ส/1,000 ประชากร) มีรายงานในวารสาร New England Journal of Medicine ในปี พ.ศ. 2530 ว่าการให้วัคซีนในเด็กนักเรียนสามารถลดการติดเชื้อในประชากรอื่นได้ ญี่ปุ่นจึงเริ่มโครงการฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนโดยเป็นโครงการบังคับในปี พ.ศ. 2540 และแนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง โครงการนี้ผลักดันให้การใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในญี่ปุ่นสูงขึ้น จนติดอันดับต้น ๆ ของโลก ปัจจุบันญี่ปุ่นสามารถพัฒนาการผลิตวัคซีนใช้เองในประเทศได้ ประเทศเกาหลีได้ตั้งคณะกรรมการให้คำแนะนำเรื่องการให้วัคซีนขึ้นในปี พ.ศ. 2540 โดยสอดคล้องกับคำ แนะนำของ WHO และหลังจากที่เกิดโรค SARS ขึ้น เกาหลีได้เพิ่มการให้ในผู้ที่สูงอายุ อายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป ส่งผลให้ในปีที่แล้ว การใช้วัคซีนในเกาหลีเท่ากับ 14 ล้านเข็มหรือเท่ากับ 32% ของประชากร

        บทสรุปความสำเร็จในการดำเนินงานของ APACI คือ การอุทิศตนทำงานเพื่อให้ประเทศใน ภูมิภาคตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโรคไข้หวัดใหญ่ การผลักดันนโยบายการใช้วัคซีน สนับสนุนด้านการศึกษาวิจัย และประสานความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกประเทศในแต่ละประเทศสมาชิก ดังเช่นผลความสำเร็จในการพัฒนานโยบายการใช้วัคซีนในประเทศฟิลิปปินส์ และการก่อตั้งมูลนิธิ ส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย

 

 


<<back