Guideline สำหรับการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549)

 

ข้อคิดเห็นจาก

 

ความเป็นมา

.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นในการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ของประเทศไทย เนื่องจาก จากการประชุม “Influenza Inter-Pandemic Preparedness” เมื่อวันที่ 10 ถึง 11 มีนาคม 2548   โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว  จังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ได้รับมอบหมายจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นเจ้าภาพในการจัดทำ National Guideline for Influenza Vaccination ดังนั้นจึงได้เรียนเชิญหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อร่วมกันจัดทำ National Guideline หาแนวทางหรือข้อสรุปมานำเสนอต่อผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่จะนำเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

 

กลุ่มประชากรที่มีข้อบ่งชี้ในการได้รับวัคซีน

(1) กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการที่จะเกิดอาการแทรกซ้อน หลังจากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ ได้แก่

-          บุคคลที่อายุ 65 ปีขึ้นไป

-          บุคคลทุกอายุที่เข้ารับการดูแลบริบาลอยู่ในสถานพยาบาลพักฟื้น (nursing home) และสถานที่รับดูแลโรคเรื้อรังต่าง ๆ

-          ผู้ใหญ่และเด็กทุกอายุที่มีโรคปอดเรื้อรัง ผู้ที่มีระบบหายใจไม่ปกติหรือเสี่ยงต่อการสำลัก รวมถึงผู้ที่มีโรคลมชัก บุคคลที่ไขสันหลังได้รับอันตราย ผู้ป่วยความจำเลอะเลือน ผู้ที่มีความผิดปกติของระบบประสาทกล้ามเนื้อ โรคระบบหัวใจ (ไม่รวมถึงผู้ป่วยความดันโลหิตสูง) รวมทั้งเด็กโรคหอบหืดด้วย

-          ผู้ใหญ่หรือเด็กทุกอายุที่ต้องเข้ารับการรักษา เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลอยู่เป็นประจำในปีก่อนด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ คือ โรคเบาหวาน โรคไต โรคเลือด หรือมีภูมิคุ้มกันเสื่อมหรือบกพร่อง ผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวีรวมทั้งผู้ที่ได้รับยากดระบบอิมมูนด้วย

-          เด็กหรือวัยรุ่น (6 เดือน-18 ปี) ที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยแอสไพริน เป็นประจำนาน ๆ และมีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยกลุ่มอาการไรย์ หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่

 

(2) กลุ่มที่อาจแพร่โรคไปสู่กลุ่มเสี่ยงสูงหรือบุคลากรที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค ได้แก่

-          แพทย์-พยาบาล บุคลากรอื่น ๆ ในโรงพยาบาลทั้งที่ทำงานในหอผู้ป่วยและตึกผู้ป่วยนอก

-          เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลพักฟื้น (nursing home) และสถานที่บำบัดและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

-          บุคคลที่พักอยู่อาศัยและดูแลผู้ที่มีความเสี่ยงสูง

-          เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำหน้าที่ในการสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว

-          เจ้าหน้าที่ทำลายซากสัตว์ปีกและสัตว์อื่นๆที่สงสัยว่าติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

-          เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยไข้หวัดใหญ่

 

(3) กลุ่มอื่นๆ ได้แก่

-          ประชาชนทั่วไปที่ต้องการฉีด เพื่อป้องกันเป็นไข้หวัดใหญ่  

-          บุคคลที่ทำหน้าที่บริการสาธารณะ ตำรวจ ทหาร  บุรุษไปรษณีย์ คนขับรถขนส่งมวลชน และรถรับจ้างสาธารณะ พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

-          หญิงที่คาดว่าจะตั้งครรภ์ในระยะที่มีไข้หวัดใหญ่ระบาด, หญิงมีครรภ์ หลังไตรมาสแรก

-          ผู้เดินทางแสวงบุญ นักเดินทางท่องเที่ยวหรือเพื่อธุรกิจ

 

บุคคลที่มีข้อห้ามของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ได้แก่

-          ผู้ที่มีประวัติการแพ้ไข่ไก่ ถ้าจะฉีดต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเสียก่อน แพทย์ให้ยากินป้องกันในระยะไข้หวัดใหญ่ระบาด (สำหรับผู้ที่แพ้ แบบอะนาฟัยแล็กซิส ห้ามฉีดเด็ดขาด)

-          คนที่เคยแพ้การฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ (แบบรุนแรง) มาก่อน

-          ขณะที่กำลังมีไข้สูง แต่ถ้าป่วยเป็นโรคเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ฉีดได้ด้วยความระมัดระวัง เช่นเด็กเป็นหวัดธรรมดา

 

ผลข้างเคียง และปฏิกิริยา ไม่พึงประสงค์ ที่พบ ได้แก่

-          ปวดบริเวณที่ฉีดซึ่งพบน้อยกว่าหนึ่งในสามของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน

-          ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามกล้ามเนื้อ พบไม่บ่อย จะพบบ่อยขึ้นในบุคคลที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มาก่อน ปฏิกิริยาดังกล่าวจะปรากฏ 6-12 ชั่วโมงหลังฉีด และอาจเป็นอยู่นาน 1-2 วัน

-          ปฏิกิริยาภูมิแพ้เฉียบพลัน เช่น ลมพิษ บวม หอบหืด และอะนาฟัยแล็กซิสหลายระบบ (systemic anaphylaxis) พบได้แต่น้อยมาก

 

จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าความคุ้มทุน (Cost-effectiveness) สำหรับการให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มคนทำงานจะมีความคุ้มค่าสูงมาก

การให้วัคซีนเพื่อการป้องกันโรคควรให้วัคซีนในช่วงก่อนถึงฤดูการระบาดในแต่ละปี ควรพิจารณาตามประกาศขององค์การอนามัยโลก ซึ่งจะประกาศให้ทราบว่า ประชากรในซีกโลกภาคเหนือ และซีกโลกภาคใต้ว่าให้ใช้สายพันธุ์ใดบ้างเป็นส่วนประกอบของวัคซีนที่จะเหมาะสมที่สุด ซึ่งความแตกต่างมักส่วนใหญ่อยู่ที่สายพันธุ์ H3N2 ส่วนสายพันธุ์ H1N1 และสายพันธุ์ B มักไม่แตกต่างกัน

 

สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีความชัดเจนเพราะอยู่ใกล้ทั้งซีกโลกภาคเหนือและใต้ การเปรียบเทียบในหลายๆ ปีเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เพาะแยกได้ในประเทศไทยที่ผ่านมา ปรากฏว่า สายพันธุ์ H3N2ที่พบในประเทศไทยบางปีก็มีแนวโน้มใกล้ไปทางซีกโลกภาคเหนือ บางปีก็ใกล้ไปทางซีกโลกภาคใต้ บางปีก็เหมือนกับทั้งสองซีกโลก การใช้วัคซีนจึงมักจะใช้ได้ทั้งวัคซีนของซีกโลกเหนือหรือซีกโลกใต้

 

ข้อสังเกตุและเสนอเป็นประเด็นเพื่อพิจารณา มีดังนี้

1.        งบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อวัคซีน

2.        ใครเป็นผู้ชำระค่าวัคซีนให้กับผู้มีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีน

3.        กำหนดลำดับความสำคัญของผู้ที่ต้องได้รับวัคซีน (Priority setting) มีความสำคัญมาก

4.        Cost effectiveness ของวัคซีนไข้หวัดใหญ่

5.        แนวทางการจัดซื้อวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยวิธีพิเศษเพิ่มเติม หรืองบประมาณพิเศษ

6.        มีหลักฐานแสดงถึง Cost effectiveness ในกลุ่มผู้ป่วย COPD และโรคระบบทางเดินหายใจ

7.        การให้ข้อมูลวิชาการแก่แพทย์ ในเรื่องประโยชน์ของวัคซีนไข้หวัดใหญ่

8.        พบว่า มีการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่จำนวนมากในเด็ก ทำให้ขาดแคลนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มที่มีความจำเป็น

9.        ปัจจุบันมี Guideline ที่ใช้อยู่ ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกที่ผ่านมา

10.     บุคลากรทางการแพทย์และห้องปฏิบัติการเป็นกลุ่มเสี่ยง ควรได้รับงบประมาณสนับสนุน

11.     ให้มีการพิจารณาลำดับความจำเป็นของกลุ่มประชากร ร่วมกับงบประมาณสนับสนุนในการได้รับวัคซีน

12.     สายพันธุ์ (Strain) ที่ระบาด กับการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เหมาะสม

13.     ความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน มีความสำคัญในแง่การควบคุมโรค