มูลนิธิส่งเสิรมการศึกษาไข้หวัดใหญ่

INFLUENZA FOUNDATION(THAILAND)

มูลนิธิส่งเสิรมการศึกษาไข้หวัดใหญ่

INFLUENZA FOUNDATION(THAILAND)

มูลนิธิส่งเสิรมการศึกษาไข้หวัดใหญ่

INFLUENZA FOUNDATION(THAILAND)

วันที่ : 2009-08-23

 

         วันที่ 23 สิงหาคม เวลาประมาณ 09.30 น. ที่เมืองทองธานี นายพินิจ จารุสมบัติ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำพิธีเปิดห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ระดับพันธุกรรมของโรคติดเชื้อเคลื่อนที่ (Mobile Molecular Laboratory) หรือโมบายแล็บ

       นายพินิจ กล่าวว่า รถโมบายแล็บที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการพัฒนาขึ้นใหม่จำนวน 2 คันนั้น มีประสิทธิภาพสูงเป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ซึ่งใช้เทคนิคการตรวจทางพันธุกรรมที่ทันสมัยและมีความปลอดภัยสูงคันแรกของโลก โดยใช้งบประมาณคันละ 15 ล้านบาท มีกลไกการทำงานของรถใช้ระบบไฟฟ้าได้ถึง 3 ระบบ

       ได้แก่ 1.ใช้ไฟจากอาคารบ้านเรือนในกรณีที่ประจำการอยู่ตามโรงพยาบาลอำเภอ หรือจังหวัด 2.ไฟฟ้าจากเครื่องสถิตย์กระแสไฟ้าข้องรถที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง 3.กระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่แบ็กอัพ ทำให้สามารถเคลื่อนที่ในทุกพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคได้โดยไม่จำเป็นต้องมีแหล่งพลังงาน ซึ่งต่างจากรถโมบายแล็บคันเก่าที่ต้องอาศัยห้องแยกเชื้อของโรงพยาบาล เนื่องจากมีอันตรายสูงพื้นที่จำกัด และต้องอาศัยแหล่งพลังงานจากโรงพยาบาลหรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์

       "รถโมบายแล็บคันใหม่สามารถตรวจยืนยันโรคไข้หวัดนกได้ทุกขั้นตอนภายในรถโมบายแล็บ ใช้เวลาในการตรวจและยืนยันผลเพียง 3-4 ชั่วโมง มีความรวดเร็วในการตรวจวินิจฉัยและควบคุมโรค จึงช่วยเหลือเยียวยาผู้ป่วยได้ทันท่วงที นอกจากนี้ รถโมบายแล็บยังสามารถตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ไวรัสแอนเทอโร 71และเชื้ออื่นๆ ที่จะอุบัติขึ้นใหม่ได้เช่นกัน และนอกจากเครื่องมือที่ทันสมัย ยังมีเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญ ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยในวันที่ 23 ส.ค.จะส่งรถคันแรก ไปประจำที่โรงพยาบาลพิจิตร เนื่องจากเป็นพื้นที่เฝ้าระวังของไข้หวัดนก ส่วนอีกคันจะเตรียมพร้อมอยู่ที่กรมวิทยาศาตร์การแพทย์ หากเกิดการระบาดในพื้นที่ใดก็จะส่งเข้าไปประจำการทันที โดยคาดว่าในอนาคตจะเพิ่มรถโมบายแล็บ อีก 2 คัน เพื่อให้ครอบคลุม ทั้ง 4 ภูมิภาค ซึ่งก็น่าจะมีความเพียงพอ"

       ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า รถโมบายแล็บที่กรมฯ มีอยู่เดิมนั้น ต้องอาศัยห้องแยกเชื้อของโรงพยาบาล ต้องอาศัยแหล่งพลังงานไฟฟ้าจากโรงพยาบาล ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล อุปกรณ์ในรถคันเดิมต้องใช้เวลาตรวจ 6-7 ชั่วโมง จึงจะทราบผล แต่คันใหม่อุปกรณ์มีความทันสมัยจึงประหยัดเวลาลงมาก ทำให้เกิดความรวดเร็วในการวินิจฉัยและควบคุมโรค ในอนาคตจะปรับปรุงขีดความสามารถให้ตรวจวินิจฉัยโรคอื่นๆ เช่น โรคซาร์ส

       นอกจากนี้ นายพินิจได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนหัวข้อการประชุม "วิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อการพึ่งตนเอง" นั้น หากประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ภายใต้เงื่อนไขการพัฒนาที่มีงบประมาณที่มีจำกัด และศักยภาพตามความเป็นจริง ปรากฏการณ์โรคภัยต่างๆ ในภูมิภาคที่มีความแตกต่างกันได้เป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากคนไทยเป็นคนเก่งเพียงแต่ขาดโอกาสเท่านั้น

       สำหรับงานการประชุมวิชาการครั้งที่ 14 นี้ นอกเหนือจากจะมีการนำเสนอผลงานวิชาการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว ยังมีการมอบรางวัล DMSc Awards ครั้งที่ 1 ให้แก่นักวิจัยและหน่วยงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ได้รับการคัดเลือกจากการประกวดผลงานวิจัย งานบริการและพัฒนาคุณภาพ สำหรับผลงานวิจัยที่ส่งเข้าประกวดมีทั้งสิ้น 23 เรื่อง โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ผลงานวิจัยเรื่อง "การพัฒนาชุดทดสอบการตรวจวินิจฉัยโรค สครับไทฟัสระยะแรก โดยเทคนิค PCR" ของนางสลักจิตร ชุติพงษ์เวท และคณะศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง "ระบบประสานงานการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทางห้องปฏิบัติการแห่งชาติ" ของนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข

       วันเดียวกันที่ จ.สุพรรณบุรี นายพินิจได้เปิดเผยว่าระหว่างวันที่ 23-31 สิงหาคมนี้ สธ.จะรณรงค์สร้างความรู้ ข้อปฏิบัติที่ถูกวิธีในการป้องกันโรคไข้หวัดนก โดยใช้กำลัง อสม.กว่า 800,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งให้ฉายาว่าเป็น "มือปราบไข้หวัดนก" เดินเคาะประตูบ้านให้ความรู้ประชาชนในสิ่งที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก ครบทุกหลังคาเรือน แจกแผ่นพับ โปสเตอร์ข้อควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด มีรูปการ์ตูนประกอบง่าย ๆ แจกให้ และจะให้ทุกหลังคาเรือนร่วมประเมินพฤติกรรมเสี่ยงการติดเชื้อโรคไข้หวัดนกของคนในครอบครัวด้วย เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยไข้หวัดนกเกิดขึ้นอีก เช่น จับไก่หรือสัตว์ปีกตายด้วยมือเปล่า นำไก่หรือสัตว์ปีกป่วยหรือตายมาชำแหละอาหารหรือรับประทาน ไม่ล้างมือด้วยสบู่หลังสัมผัสสัตว์ปีก เป็นต้น

       ในรอบแรกจะเน้นรณรงค์ที่ 30 จังหวัดพื้นที่เสียงที่เคยมีการระบาดของโรคไข้หวัดนกก่อน ประกอบด้วยภาคเหนือ 12 จังหวัด คือ พิจิตร อุทัยธานี สุโขทัย นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ตาก ลำพูน น่าน และเชียงใหม่ ภาคกลาง 10 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี นครปฐม ลพบุรี กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี และอ่างทอง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด คือ หนองคาย สกลนคร นครราชสีมา หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด และภาคใต้ ที่จังหวัดพังงา


       นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า จากรายงานการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน ของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เวลา 06.00 น.ของวันที่ 22 สิงหาคม ถึงเวลา 06.00 น.วันที่ 23 สิงหาคม 2549 มีผู้ป่วยในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก รับไว้สังเกตอาการและอยู่ในความดูแลของแพทย์ในโรงพยาบาลรวม 79 ราย จาก 22 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก 18 ราย ลำพูน 10 ราย สุพรรณบุรี 6 ราย กาญจนบุรี สุโขทัย จังหวัดละ 5 ราย กรุงเทพมหานคร พิจิตร เพชรบูรณ์ จังหวัดละ 4 ราย นนทบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ จังหวัดละ 3 ราย อุทัยธานี 2 ราย ปทุมธานี ชัยนาท สมุทรสาคร อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร เลย บุรีรัมย์ มุกดาหาร และอำนาจเจริญ จังหวัดละ 1 ราย โดยมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่หรือปอดอักเสบ ที่อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคและรอผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ 100 ราย ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่พบโรคไข้หวัดนกรายใหม่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด


ที่มา : ผู้จัดการออนไลท์ http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000107301
วันที่ 23 สิงหาคม 2549


มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ 630 ซอย อาคารสงเคราะห์ (ซอย 23) ถ. นวมินทร์ แขวง คลองจั่น เขต บางกะปิ กทม.