มูลนิธิส่งเสิรมการศึกษาไข้หวัดใหญ่

INFLUENZA FOUNDATION(THAILAND)

มูลนิธิส่งเสิรมการศึกษาไข้หวัดใหญ่

INFLUENZA FOUNDATION(THAILAND)

มูลนิธิส่งเสิรมการศึกษาไข้หวัดใหญ่

INFLUENZA FOUNDATION(THAILAND)

วันที่ : 2009-08-23

หมอนักสืบ:
เรื่องของหมอสองท่านต่างวัยช่วยกันสืบจับฆาตรกรที่อาละวาดคร่าชีวิตประชากรโลกประมาณ 40 ล้านคนเมื่อ 80 ปีก่อน

โดย :
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ประเสริฐ ทองเจริญ
ราชบัณฑิตสาขาแพทยศาสตร์
ประธานคณะกรรมการมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่

————————————————————————————————————————

        ผมกำลังสนใจเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาดรุนแรงทั่วโลก โรคไข้หวัดใหญ่นี้ ภาษาอังกฤษจะเรียกชื่อกันว่า Influenza ฝรั่งเศสจะเรียกว่า le grippe เยอรมันจะเรียกว่า die Grippeและพวกชาวบ้านธรรมดาๆ ก็จะเรียกกันสั้นๆว่า Flu (ฟลู) ก็คงเหมือนคนไทยเราเรียก สุกียากี้ ว่า สุกี้ นั่นแหละ ต่อไปนี้ ผมก็จะเรียกของผมว่าไข้หวัดใหญ่บ้าง เรียกว่าฟลูบ้าง ก็อย่าไปถือกติกาอะไรเคร่งครัดกันนักก็แล้วกัน

        เกี่ยวการระบาดของฟลูนี้ เท่าที่มีหลักฐานให้ค้นได้มากหน่อยก็คือ การระบาดเมื่อปี พ.ศ. 2461/62 (ค.ศ. 1918/1919) ซึ่งตรงกับรัชสมัยของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ของไทยเรา หรือปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 การระบาดครั้งนี้มีชื่อเรียกกันโดยทั่วไปว่า ไข้หวัดใหญ่ สเปน หรือ Spanish flu อันที่จริงโรคไม่ได้เริ่มที่สเปน แต่ประเทศอื่นกำลังมีศึกสงครามจึงต้องปิดข่าวการระบาดของโรค สเปนไม่ได้เข้าสงครามก็เลยมีข่าวออกจากประเทศนั้น เขาก็เลยเหมาเอาว่าเป็น Spanish flu อีกครั้งต่อมาก็คือการระบาดเมื่อปี พ.ศ. 2500 ที่เรียกกันว่า เอเชี่ยน ฟลู ครั้งถัดมาก็คือ ฮ่องกง ฟลู เมื่อปี พ.ศ. 2521 การระบาดย่อมๆของไข้หวัดนกที่ฮ่องกงเมื่อปี พ.ศ. 2540 และการระบาดในหลายประเทศของไข้หวัดนกในเอเชียระหว่างปีพ.ศ. 2546 ถึง 2548
        
        ที่ผมสนใจมากก็คือการระบาดเมื่อปี พ.ศ. 2461/62 เหตุที่ผมสนใจในช่วงระยะการระบาดครั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองประการ ประการแรกก็คือ การระบาดครั้งนั้น รุนแรงที่สุด ประชากรโลกได้รับผลกระทบอย่างมาก ล้มตายจากการระบาดของโลก ประมาณ 40 ล้านคน ในบันทึกที่ออกจะโอเว่อร์หน่อยบอกว่าตายถึง 100 ล้านคน ส่วนมากเป็นคนหนุ่มคนสาวที่มีร่างกายแข็งแรงดีมาก่อน ป่วยปุบปับ เป็นเร็วและตายเร็ว เห็นหน้ากันอยู่หล้ดๆ สองสามวันก็จากไปเสียแล้ว ประการที่ สองก็คือ ในการระบาดครั้งนั้น เรายังไม่รู้จักตัวเชื้อก่อโรคฟลูว่าเป็นเชื้ออะไร เรามารู้จักเชื้อก่อโรคว่าเป็นไวรัสเมื่อปี พ.ศ. 2476 คือ 14-15 ปีให้หลัง ความสนใจของผมในประการหลังนี้ก็คือ อยากจะทราบว่ามันคือเชื้ออะไรกันแน่ที่โหดเหี้ยม ภายในเวลา 18 เดือนที่ระบาด คร่าชีวิตมนุษย์ได้ถึง 40 ล้านคน มากกว่าการตายในสงครามหลายๆครั้งรวมกัน ตายมากกว่าการระบาดของใหญ่กาฬโรคในยุโรป ที่เรียกกันว่า Black death ซึ่งระบาดในยุโรปนานถึง 4ปี พ.ศ. 1900-1904 (ค.ศ. 1357-1361) นั่นเสียอีก ความสนใจในจุดนี้เองที่ทำให้ไปอ่านเจองานของหมอ 2 ท่านที่ผมให้สมญาท่านว่าเป็นหมอนักสืบ เพราะท่านด้นดั้นไปสืบไปค้นจนจับตัวฆาตรกรที่อาละวาตเมื่อปี พ.ศ. 2461 มาเปิดเผยโฉมหน้าให้ชาวโลกได้รู้จักกัน

       หมอนักสืบท่านแรกเป็นอเมริกันมีชื่อว่า ดร. เจ็ฟฟรีย์ ทอเบนแบรเกอร์ (Jeffrey Taubenberger) วัย ๕๐ เศษๆ ซึ่งเป็นทั้งหมอเอ็มดี และนักวิทยาศาสตร์ระดับ พีเอ็ชดี ทำงานประจำอยู่ที่ห้องปฏิบัติการอณูพยาธิวิทยาของสถาบันพยาธิวิทยาแห่งกองทัพบกสหรัฐ (Armed Forces Institute of Pathology) ที่ร็อควิลล์ รัฐแมรีแลนด์ โดยมีผู้ช่วยชื่อ ดร. แอนน์ ไรด์ สถาบันแห่งนี้มีอายุกว่า 130 ปีแล้ว ก่อตั้งขึ้นโดยคำบัญชาของอดีตประธานาธิบดี แอบราแฮม ลินคอล์น เพื่อเป็นสถาบันที่คอยชันสูตรว่า ทหารที่เสียชีวิตในสงครามกลางเมืองนั้นมีเหตุจากโรคอะไรบ้าง ด้วยเหตุนี้เอง ณ สถาบันนี้จึงมีการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อที่ได้จากการตรวจชันสูตรศพนับหลายล้านชิ้น มีการบันทึกรายละเอียดต่างๆ จัดหมวดหมู่ มีคอมพิวเตอร์ควบคุมทะเบียน ทำให้ค้นหาตัวอย่างต่างๆได้โดยสะดวก ถ้าเป็นบ้านเมืองเราคงหาไม่ได้ เพราะการรณรงค์เรื่อง ห้า ส. ไม่ทราบว่าโกยอะไรทิ้งกันไปบ้าง เพราะคนเก็บเป็นคนรุ่นเก่า ตายไปแล้วก็เยอะ คนโกยทิ้งก็เป็นคนรุ่นจ๊าบที่ไม่เคยสนใจประวัติศาสตร์ ที่หน้าห้องทำงานของผมซึ่งก็มีของเก่าๆเก็บไว้เยอะ ต้องเขียนป้ายติดเอาไว้ว่า ห้า ส. อ่านว่า ห้ามเสือก

        ทอเบนแบรเกอร์และคณะได้ไปค้นดูชิ้นเนื้อที่ได้จากการผ่าศพทหารที่เสียชีวิตด้วยโรคไข้หวัดใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2461 ที่ยังเก็บรักษาไว้ โดยดองในฟอร์มาลินกันเสียก่อน แล้วละลายพาราฟีนหุ้มเอาไว้ ฝังไว้ในก้อน
พาราฟีนให้คงรูป แล้วเก็บเอาไว้ เนื้อชิ้นนั้นได้มาจากคนไข้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่แล้วตายด้วยปอดบวม 28 รายด้วยกัน เมื่อนำไปเข้าเครื่องตัดทางพยาธิวิทยาตัดให้บางเฉียบที่เรียกกันตามภาษาพยาธิแพทย์ว่า ทำเซ็คชั่นแล้วนำไปวางบนแผ่นกระจกเล็กๆที่เรียกว่าแผ่นสไลด์ นำไปย้อมสีโดยกรรมวิธีทางพยาธิวิทยา แล้วจึงนำไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ผลการตรวจทำให้แยกคัดเอาเนื้อเยื่อปอดของผู้ตายออกมาได้สามราย ที่ผลการตรวจเข้าได้กับปอดบวมปัจจุบันชนิดที่เป็นทั้งกลีบปอด หรือที่พวกหมอเขาเรียกกันว่า acute lobar pneumonia และมีลักษณะที่มีเม็ดเลือดขาวเข้าไปแทรกอยู่ในเนื้อปอดเป็นอย่างมาก เมื่อพิจารณาให้ละเอียดลงไปก็พบว่ามีอยู่รายหนึ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นปอดบวมจากไวรัส ตั้งแต่แรก ไม่ใช่ปอดบวมจากการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม เจ้าของชิ้นเนื้อรายนี้มีนามกรว่า พลทหาร รอสโค วอห์น (Private Roscoe Vaughan) ประจำกองพันวิศวกรรมที่ 3 รอสโค เจ็บหนักขณะกำลังเตรียมตัวเดินทางไปสู่แนวหน้า มีไข้สูงถึง 103 องศาฟาห์เรนไฮท์ หนาวสั่น มีอาการไอหนัก หายใจหอบ หายใจลำบากและสุดท้ายโรคปอดบวมก็คร่าชีวิตเขาไปเพียง 5 วันหลังที่เริ่มป่วย ก็ตัวอย่างชิ้นเนื้อของรอสโคนี่แหละ ที่ช่วยให้ชาวโลกได้รู้จักตัวฆาตรกรตัวจริง

        ตัวอย่างเนื้อเยื่อชิ้นนี้ ถูกดองไว้ในฟอร์มาลิน เชื้อต่างๆถูกฆ่าไปหมดแล้ว จะเอามาเพาะเชื้อปลุกชีพผีดิบ ปล้ำผีลุก ปลุกผีตื่นก็ไม่ได้ แต่ก็ยังมีส่วนของสารพันธุกรรมหลงเหลือเศษอยู่บ้าง ก็เหมือนศพที่ตายจากสึนามิเราก็ยังเอามาตรวจหาดีเอ็นเอได้ แต่กรณีที่แช่ฟอร์มาลินมาแล้ว จะตรวจไม่ได้ จะต้องเอาสารพันธุกรรมที่หลงเหลือเศษอยู่น้อยนิดนั่นมาเพิ่มปริมาณให้มากพอเสียก่อนจึงจะพอตรวจได้ เดชะบุญที่ทางอณูพันธุศาสตร์มีกรรมวิธีอยู่ เรียกกันตามภาษาเท็คนิคว่า กรรมวิธีขยายสารพันธุกรรมโดยปฏิกิริยาห่วงลูกโซ่ (Polymerase chain reaction หรือเรียกสั้นๆว่า PCR หรือปฏิกิริยาพีซีอาร์) โดยไปขยายส่วนรหัสพันธุกรรมสำคัญที่จะบอกได้ว่าเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดไหน นั่นก็คือไปขยายส่วนที่เรียกกันว่า H (ชื่อเต็มๆว่า hemagglutinin) และส่วนที่เรียกว่า N (ชื่อเต็มๆว่า neuraminidase) อันว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ นั้น (ไวรัสไข้หวัดใหญ่มีเพียง สามชนิด เรียกว่า เอ บี ซี การระบาดใหญ่ทั่วโลกส่วนใหญ่จะเกิดจากชนิด เอ) จะมี H อยู่ต่างๆกันถึง 15 ชนิด (H1, H2, H3. H4, H5….H15.) และไวรัส เอ นี่ จะมี N อยู่ 9 ชนิดต่างๆกัน (N1, N2, N3, N4, N5….N9.) เรียกว่ารวยทั้ง H และ N (เพราะเหตุนี้เองจึงได้ระบาดได้เรื่อยๆ การระบาดจะเกิดจากไวรัสที่มีรหัส H1N1, H2N2, H5N1, H7N7 เป็นต้น)

        ผลการศึกษาของคุณหมอนักสืบ ทอเบนแบรเกอร์สามารถขยายสารพันธุกรรม อาร์เอ็นเอ ได้จากเนื้อเยื่อของพลทหาร รอสโค ปรากฏว่าเป็นไวรัสชนิดที่มีรหัสว่า H1N1 นั่นเอง ทอเบนแบรเกอร์ เมื่อเจอของวิเศษเช่นนี้ ทั้งคณะต่างก็ดีใจเปล่งเสียง "ยูเรก้า ข้าพบแล้ว" ด้วยความปลื้มปิติ และก็ไม่ได้เอาผลงานนักสืบนี้ขึ้นเก็บไว้บนหิ้ง แต่ได้รีบนำความไปเรียบเรียงเป็นเอกสารทางวิชาการส่งไปตีพิมพ์ให้ปรากฏแก่สายตาชาวโลกอย่างฉับไวในวารสารทางวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อว่า Science เดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ 1997) ฉบับที่ 275 หน้า 1793-1796

        พลทหารรอสโคนั้นอยู่ที่ ฟอร์ท แจ็คสัน รัฐ เซาท์ แคโรไลน่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่ เอ ฆาตรกรตัวจริงที่ขยายชิ้นส่วนได้นี้ จึงได้รับการขนานนามตามหลักสากลว่า Influenza A/South Carolina/1/1918 (H1N1)

        ภายหลังที่ตีพิมพ์ผลงานเผยแพร่ให้ฮือฮากันทั่วโลกแล้ว มีคุณหมอคนหนึ่งตื่นเต้นสนใจเป็นพิเศษ นั่นคือคุณหมอโจฮัน ฮุลทิน (Johan Hultin) อายุเลยวัยเจ็ดสิบไปแล้วหลายปี ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. 2493 (ค.ศ. 1950) ฮุลทินนักศึกษาหนุ่มอพยพมาจากสวีเดนเมื่อ ปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ. 1949) ขณะศึกษาปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยไอโอวา ก่อนจะเข้าเรียนแพทย์ต่อที่นั่น ได้ขับรถพาภรรยาขึ้นไปทัศนาจรอลาสกา บังเอิญไปพบกันกับนักโบราณคดีท่านหนึ่งชื่อคุณออตโต ไก๊ซ ที่แฟร์แบงค์ เกิดไปคุยกันถูกคอเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ที่
อาละวาดที่อลาสกา เมื่อ พ.ศ. 2461 ก็เลยทราบว่า ชาวเอสกิโม 80 คน พำนักอยู่ที่ปริเวณประชาคมผู้สอนศาสนาที่เรียกว่า Teller Mission ซึ่งปัจจุบันเปลียนชื่อเป็น Brevig Mission นั้น ตายด้วยไข้หวัดใหญ่เสีย 72 คน เหลือเพียงแปดคน ไม่ทราบว่าใครจะทำหน้าที่สัปเหร่อ นักโบราณคดี ไก๊ซได้พาฮุลทินไปที่โบสถ์ของตำบล จึงได้รายละเอียดของผู้คนที่ล้มตายไปจากนักบวชที่นั่นและทราบด้วยว่าเขาฝังศพกันไว้ที่ใหน โดยฝังหมู่ไว้ ใต้แผ่นน้ำแข็งที่หนาแข็งตลอดกาลไม่มีวันละลายที่เรียกว่า Permafrost นั้น ทำให้ศพไม่เน่าเปื่อย ตอนเรียนที่มหาวิทยาลัยมีอาจารย์ท่านหนึ่งเล่าเรื่องการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2461 และแถมท้ายว่า ตอนนั้นเรายังไม่มีวิธีเพาะเชื้อ แต่ถ้าศพแช่เย็นจัด เชื้ออาจจะไม่ตายก็ได้ ฮุลทินยังจำคำสอนของอาจารย์ได้ หลังจากกลับจากทัศนาจร วิญญาณนักสืบของฮุลทิน นำให้ฮุลทินหวลกลับไปที่เบรวิกอีก คราวนี้ลงทุนไปขุดหลุมฝังศพ ตัดเอาตัวอย่างตรวจกลับไปไอโอวาหวังว่าตัวอย่างที่แช่น้ำแข็งอยู่นานนับหลายสิบปีนั้น ไวรัสไข้หวัดใหญ่จะคงยังอยู ปีนั้นคือปี พ.ศ. 2493
(ค.ศ. 1950)

        เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ของคนนั้นในปี พ.ศ. 2461 (ค.ศ. 1918) ยังเพาะแยกเชื้อกันยังไม่ได้ อีก 15 ปีให้หลัง ดร.สมิธ, เลดลอว์ และ เซอร์ แอนดรูว์ ชาวอังกฤษ จึง สามารถเพาะเชื้อได้ก็เมื่อปี พ.ศ. 2476 ค.ศ. 1933 โดยเพาะในทางเดินหายใจของสัตว์แทะที่มีชื่อว่า เฟอร์เร็ท กรรมวิธีเพาะเชื้อที่ง่ายกว่าคือเพาะในไข่ไก่ฟัก ซึ่งก็เพิ่งก็ทำกันได้ในภายหลังในปี พ.ศ. 2478 (ค.ศ. 1935) โดยแมคฟาร์แลนด์ เบอร์เน็ท ชาววิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียผู้ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลและได้บรรดาศักดิ์เป็นเซอร์ในเวลาต่อมา ฮุลทินก็พยายามเพาะเชื้อจากตัวอย่างตรวจในไข่ไก่ฟัก แต่ก็ล้มเหลว ในสมัยนั้นปฏิกิริยาพีซีอาร์ยังไม่เกิด อย่างไรก็ตาม ฮุลทินเมื่อได้อ่านบทความของทอเบนแบรเกอร์ในวารสารไซแอนซ์ แล้ว วิญญาณนักสืบถูกปลุกฤทธิ์กลับมาสิงร่างอีก จึงรีบติดต่อไปยัง หมอทอเบนแบรเกอร์ทันที และยื่นข้อเสนอว่า การทำพีซีอาร์จากชิ้นเนื้อดองฟอร์มาลินนั้นจะสู้ของสดได้หรือ จะไปหาตัวอย่างสดๆ ฝังอยู่ใต้น้ำแข็งมาให้จะเอาไหม หมูวิ่งมาชนปังตอ แล้วมีหรือ ทอเบนแบรเกอร์จะละโอกาส

        ก่อนฉลองวันเกิดครบ 73 ปี เพียงไม่กี่สัปดาห์ ฮุลทินคว้าเอากรรไกรเล็มต้นไม้ในสวน คว้าจอบ และมีดในครัวอีกสองสามเล่ม จองตั๋วเรือบินกลับไปอลาสกา ลงที่โนเม (Nome) แล้วต่อไปยังเบรวิก ซึ่งอยู่ห่างจากโนเมไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 65 ไมล์ อยู่ชิดไปทางช่องแคบเบริง โดยใช้งบประมาณส่วนตัวแท้ๆ เบ็ดเสร็จแคะกระปุกไปได้ 4,100 เหรียญอเมริกัน ตรงดิ่งไปที่ศูนย์ราชการขออนุญาตทำการขุดค้นศพใต้เพอร์มา ฟรอซ ซึ่งก็ได้รับอนุญาตโดยดี เพราะศพทุกศพต่างก็ไม่มีญาติเหลืออยู่แล้ว ลงมือขุดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 จ้างชาวบ้านไปช่วยขุดอยู่ 4 วัน ได้หลุมลึก 7 ฟุต ก็เจอหลุมฝังศพหมู่

         ผมลืมบอกไปว่า ฮุลทินนั้นเกษียณอายุแล้ว อาชีพของท่านที่ทำงานก่อนเกษียณอยู่ที่นคร ซาน
ฟรานซิสโกนั้น ท่านเป็นหมอพยาธิวิทยาและนิติเวชศาสตร์ครับ วิญญาณของท่านจึงถูกปลุกฤทธิ์ได้โดยเร็ว ท่านตั้งความหวังไว้สูงมาก ว่าคราวนี้ท่านต้องจับตัวฆาตรกรได้แน่ๆ

         ในหลุมฝังศพหมู่ยั้น หลังสำรวจดูแล้วก็พบร่างของสาววัยระหว่าง 20-30 ปีรายหนึ่ง สภาพศพค่อนข้างสมบูรณ์ รูปร่างค่อนข้างตุ้ยนุ้ย มีไขมันเยอะ ฝังอยู่ใต้น้ำแข็งลึกถึง 7 ฟุต ไขมันน่าจะป้องกันการเสื่อมสลายของไวรัส หรือสารพันธุกรรมของไวรัสได้ดี จึงตกลงใจที่จะทำการผ่าศพด้วยเครื่องมือง่ายๆที่เอาติดตัวไปจากบ้าน ฮุลทินตั้งชื่อให้เธอว่า "ลูซีย์ -Lucy"

         ฮุลทินตัดกระดูกซี่โครงออก ลงไปตัดเอาเนื้อปอดออกมาได้ชิ้นโตพอควร เก็บในขวดมิดชิด กลบหลุม และปักกางเขนไว้บริเวณหัวท้ายหลุมสูง 11 ฟุต และ 7 ฟุต เป็นเครื่องหมายแล้วจึงรีบกลับนคร ซาน
ฟรานซิสโก จัดการแบ่งตัวอย่างปอดที่เก็บมาได้เป็น 3 ขิ้น เพื่อป้องกันผิดพลาด ส่งไปให้ ดร. แอนน์ ไรด์ โดย ยูพีเอสห่อหนึ่ง ส่ง ทางเฟดเอ็กซ์ อีกห่อหนึ่ง และส่งทางไปรษณีย์ด่วนสหรัฐอีกหนึ่งห่อ ผลก็คือถึงที่หมายทั้งสามห่อ ฮุลทินตั้งหน้าตั้งตาคอยฟังผล และปลื้มสุดขีดเมื่อทราบว่า จากตัวอย่างตรวจซึ่งเป็นปอดของลูซีย์ ก็สามารถขยายสายพันธุกรรมได้ H1N1 เหมือนกับตัวอย่างตรวจที่เป็นปอดของรอสโคนั่นเอง ไวรัส H1N1 ตัวนี้เองที่เขาเรียกกันว่า Swine influenza เชื่อว่าเป็นไวรัสของหมู แต่ต้นตอดั้งเดิมก็ยังโทษกันอยู่ว่ามาจากสัตว์ปีก

         บางท่านอาจจะสงสัยว่า ปฏิบัติการเช่นนี้ไม่กลัวผีดิบออกมาอาละวาดหรือไร ขอเรียนว่า ฮุลทินหมอนักสืบสูงอายุนั่นก็ไม่ได้ป้องกันตัวอะไรเป็นพิเศษ เพราะเชื้อตายแล้ว ไม่ก่อโรค แต่ขั้นตอนขยายสารพันธุกรรมนั้น ต้องทำในห้องปฏิบัติการที่มีความปลอดภัยสูงสุด คือ ห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 4 (Biosafety level 4) ซึ่งห้องระดับนี้ ในเอเชียคงจะมีที่ญี่ปุ่นเท่านั้น ที่ใกล้ๆประเทศไทยก็มีที่เมืองกีลองออสเตรเลียโน่น ในสหรัฐ แคนาดา มีหลายแห่ง มีเอาไว้ศึกษาวิจัยเชื้อโรคที่รุนแรง อาวุธชีวภาพ หรือเชื้อโรคอุบัติใหม่เช่น อีโบล่า สมองอักเสบจากไวรัสนิพาห์ ซาร์สเป็นต้น ในบ้านเรามีเฉพาะห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 เท่านั้นเอง และเท่าที่ทราบก็มีอยู่ 3 แห่งคือที่ ศิริราช คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทราบว่าผู้ใหญ่กำลังพิจารณาให้มีเพิ่มอีกหลายแห่ง นี่แหละครับเป็นเรื่องราวของนักสืบต่างวัยสองท่าน หมอท่านแรกวัย 50 เศษ ท่านหลังป่านนี้ก็ร่วม 80 เข้าให้แล้ว และยังมีผู้ที่อยากเป็นนักสืบอีก 2-3 คน ถ้ามีโอกาสผมจะเอามาเล่าอีกครั้งครับ


 


มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ 630 ซอย อาคารสงเคราะห์ (ซอย 23) ถ. นวมินทร์ แขวง คลองจั่น เขต บางกะปิ กทม.