มูลนิธิส่งเสิรมการศึกษาไข้หวัดใหญ่

INFLUENZA FOUNDATION(THAILAND)

มูลนิธิส่งเสิรมการศึกษาไข้หวัดใหญ่

INFLUENZA FOUNDATION(THAILAND)

มูลนิธิส่งเสิรมการศึกษาไข้หวัดใหญ่

INFLUENZA FOUNDATION(THAILAND)

วันที่ : 2009-08-24

 

สรุปรายงานการประชุมมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ เรื่อง
Moving Towards Prevention and Control of Influenza Pandemic on the Next Decade
วันที่ 24-25 สิงหาคม 2547 โรงแรมโนโวเทล สยาม สแควร์ กรุงเทพมหานคร


        การประชุมนี้ได้จัดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจาก Asian Pacific Advisory Committee of Influenza (APACI) ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา และกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย จุดประสงค์ของการประชุมเพื่อร่วมกันหาข้อตกลง ในการวางนโนบายสำหรับเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่

        ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของการตั้งมูลนิธินี้ว่า เพื่อเพิ่มความตระหนักความสำคัญเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ และการใช้วัคซีนป้องกันโรคนี้ในประเทศไทย มูลนิธิเป็นองค์กรกลางที่ไม่มีจุดประสงค์ทางการเมือง หรือการแสวงผลกำไรใดๆ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ได้มีสัญญานเตือนหลายอย่างถึงความเป็นไปได้ของการระบาดใหญ่แบบ pandemic ไม่ว่าจะเป็นโรค SARS การระบาดของไข้หวัดนกในสัตว์ปีก องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้เตือนประเทศสมาชิก ให้ทำการเตรียมพร้อมโดยร่างแผนเพื่อรับสถานการณ์ ประเทศไทยในฐานะสมาชิกของ Asian Pacific Advisary Committee of Influenza (APACI) ด้วยจึงได้ถือโอกาสนี้ จัดการประชุมขึ้นโดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา แพทย์ นักระบาดวิทยา ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข บริษัทผู้ผลิตวัคซีน สื่อมวลชน เข้าร่วมแสดงข้อมูลและออกความคิดเห็น ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมพร้อมรับการระบาดใหญ่ที่อาจจะมาถึงในเร็วๆ นี้

        ไข้หวัดใหญ่มีการระบาดครั้งใหญ่ที่เกิดจาก antigenic shift ในปี พ.ศ. 2461 โดยรู้จักกันในนามของไข้หวัดสเปนเกิดจากเชื้อ H1N1 ได้คร่าชีวิตคนไปกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็น 5% ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด อัตราการติดเชื้อเท่ากับ 25-30% ประชาชนที่ตายส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ในปี พ.ศ. 2540 ได้เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในไก่ที่ประเทศฮ่องกง โดยเกิดจากเชื้อ H5N1 มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อ 18 คน ตาย 6 คน อัตราการเสียชีวิตเท่ากับ 33% ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ได้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจชนิดใหม่ขึ้นคือโรค SARS ติดโดยการหายใจจากคนไปคน โดยมีการแพร่กระจายที่ประเทศจีน เวียดนาม ไทย ฮ่องกง และสิงค์โปร์ และอีกหลายประเทศ ในปี พ.ศ. 2546 ไข้หวัดนกได้กลับมาอีกครั้งเป็นการระบาดที่มีความรุนแรง เกิดจากเชื้อ H5N1 ระบาดเป็นวงกว้างใน 8 ประเทศ ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อ 12 ราย เสียชีวิต 8 ราย มีอัตราการเสียชีวิต 68% เชื้อ H5N1 ในปี พ.ศ. 2546 ต่างจากเชื้อในปี พ.ศ. 2540 เพราะเชื้อในปี พ.ศ. 2540 ในไก่ที่ตายพบมีเชื้ออยู่มากเฉพาะที่ทางเดินหายใจ แต่เชื้อที่ระบาดในปี พ.ศ. 2546 เชื้อมีความรุนแรงมากขึ้น สามารถพบพยาธิสภาพกระจายไปทุกอวัยวะ เนื่องจากไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาเฉพาะที่มีประสิทธิภาพสูง ที่ประชุมจึงมีความเห็นร่วมกันว่า หนึ่งในยุทธวิธีหลักในการป้องกันและควบคุมการระบาดใหญ่ครั้งต่อไปนั้นคือ การฉีดวัคซีนป้องกัน

        จากการสำรวจความคิดเห็นของแพทย์ไทย 200 รายเกี่ยวกับโรคนี้พบว่า ส่วนใหญ่เห็นว่าโรคนี้มีความรุนแรงและอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ หลังจากที่เกิดโรค SARS และไข้หวัดนกขึ้น แพทย์มีความตระหนักเกี่ยวกับโรคไข้หวัดใหญ่มากขึ้น โดย 77% ของผู้ถูกสำรวจ จะแนะนำให้ผู้ป่วยฉีดวัคซีนป้องกัน โดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง

        ในประเทศไทย ฤดูกาลที่มีเชื้อไข้หวัดใหญ่กระจายอยู่มากที่สุด และทำให้มีผู้ป่วยมากที่สุดคือในเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมของทุกปี โดยเชื้อจะเป็น H3N2, H1N1, และ B ซึ่งคนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อนี้อยู่แล้ว ในทุกปีเชื้อจะมีการเปลี่ยนแปลงของชิ้นส่วนพันธุกรรมเล็กๆ น้อยๆ เรียกว่า antiginic drift ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เป็นศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติทำการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของไวรัสไข้หวัดใหญ่ของ WHO เมื่อเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่เข้ามาก็จะทำการรายงานเข้าสู่ WHO ซึ่งจะประชุมกันทำนายเชื้อไวรัสที่จะระบาดในปีต่อไป เพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนได้ทัน ข้อจำกัดของการผลิตวัคซีนในปัจจุบันก็คือต้องผลิตปีต่อปีเพราะไวรัสมีการกลายพันธุ์เสมอ เราจึงไม่สามารถเก็บกักวัคซีนไว้ใช้เป็นจำนวนมากๆ ในเวลานานๆ ได้ และการผลิตวัคซีนนั้นต้องใช้เวลาเนื่องจากกระบวนการผลิตอาศัยไข่ไก่ฟัก

        ความป็นห่วงของนักไวรัสวิทยาในขณะนี้เกิดจาก มีการแพร่กระจายของไวรัสไข้หวัดใหญ่ของคนและของสัตว์ปีกอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกันอยู่นานเกินไป ตามทฤษฎีจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการกลายพันธุ์ขึ้น นอกจากเชื้อ H5N1 ที่เป็นตัวสำคัญแล้ว เรายังพบเชื้อ H9N2 ในสัตว์ปีกของเกาะฮ่องกงปนอยู่ด้วย ไวรัสทั้งสองตัวนี้มีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ได้เช่นเดียวกัน เรายังขาดความรู้เกี่ยวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีกอีกมาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับธรรมชาติของมัน ในญี่ปุ่นได้เกิดการระบาดขึ้นในไก่เมื่อ 79 ปีที่แล้วและไม่เคยย้อนกลับมาอีก จนกระทั่งในปีนี้ ในเม็กซิโกมีการระบาดแบบรุนแรงขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2538 จากนั้นเชื้อก็ปลี่ยนมาเป็นเชื้อที่มีความรุนแรงต่ำ ระบาดประปรายโดยไม่เคยหายไปเลย ส่วนในรัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐเกิดการระบาดขึ้นทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการเลี้ยงไก่แบบฟาร์มในบ้าน นอกจากนี้เรายังไม่ทราบความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อกับนกป่าที่อพยพตามฤดูกาล ยังไม่ทราบว่าการฆ่าไก่ จะต้องฆ่าเป็นจำนวนเท่าไร จะต้องฆ่านกป่าด้วยหรือไม่ รัฐบาลประสบปัญหาเรื่องค่าชดเชยสำหรับการฆ่าไก่ เพราะปัญหานี้แตกต่างจากปัญหาจากภัยทางธรรมชาติที่ต้องมีการกันงบฉุกเฉินไว้แล้วทุกปี ปัญหาไข้หวัดใหญ่ทั้งของคนและสัตว์จึงไม่ใช่ปัญหาสาธารณสุขแต่เพียงอย่างเดียว และจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนทั้งประเทศไม่ว่าจะใน ทางตรงหรือทางอ้อม

        คุณปราณี ธวัชสุภา ตัวแทนจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้กล่าวถึงการดำเนินงานการเฝ้าระวังทางไวรัสวิทยาที่ประเทศไทยได้เป็นศูนย์เครือข่ายของ WHO ดักจับไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ได้มีการตรวจตัวอย่างจากผู้ป่วยเป็นระยะๆ ตลอดปีเพื่อทำการวิเคราะห์ ศูนย์นี้จะทำงานใกล้ชิดกับศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐอเมริกาและ WHO ไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยส่วนใหญ่พบว่าเป็นสายพันธุ์เอ มีฤดูกาลการแพร่เชื้อเช่นเดียวกับไวรัสในซีกโลกใต้ คือเช่นเดียวกับประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในปี พ.ศ. 2547 ประเทศไทยพบและยืนยันไข้หวัดใหญ่ H5N1 จากผู้ป่วยไทย 12 ราย เสียชีวิต 8 ราย เกิดขึ้นพร้อมกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีก

        รศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ตัวแทนจากสาขาไวรัสวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ชี้แจงว่าตำแหน่งที่ทำให้ไวรัสมีความรุนแรงต่างกันคือ ตำแหน่งที่ตัดแยกระหว่าง HA1 และ HA2 ต้องดูว่ากรดอะมิโนแบบใดที่ทำให้ไวรัสชอบจับกับ receptor ของคน กรดอะมิโนแบบใดที่ไวรัสชอบจับของนก จากการแยกเชื้อ H5N1 จากผู้ป่วยในปี พ.ศ. 2547 ที่ผ่านมา พบว่าไวรัสยังมีกรดอะมิโนที่ชอบจับ receptor ของนกอยู่ จึงยังไม่น่าข้ามมาติดเชื้อในคนอย่างง่ายๆ รศ.พญ.จันทพงษ์ วะสี นายกสมาคมไวรัสวิทยา (ประเทศไทย) กล่าวว่า ไวรัสที่แพร่เชื้อในปัจจุบันเป็นสายพันธุ์ H1N1 และ H3N2 ฤดูกาลแพร่กระจายเป็นเหมือนไวรัสของซีกโลกใต้คือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ มีการเปลี่ยนแปลงของชิ้นส่วนพันธุกรรมเล็กๆน้อยๆ ทุกปี วัคซีนที่เหมาะสำหรับประเทศไทย คือวัคซีนที่ผลิตสำหรับซีกโลกใต้ ขบวนการผลิตจะเริ่มในเดือนมิถุนายน และควรฉีดก่อนการระบาด คือฉีดในช่วงเดือนเมษายน หรือ พฤษภาคม

        คุณปิแอร์ คัมปิลาร์ด ตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จากสหภาพยุโรป ได้กล่าวถึงสถานการณ์วัคซีนในปัจจุบันว่า เนื่องจากวัคซีนเป็นเครื่องมือหลักในการควบคุมป้องกันโรค และเพราะปริมาณการผลิตวัคซีนยังมีจำกัด จึงมีความเป็นไปได้ว่าวัคซีนจะไม่เพียงพอสำหรับทุกคน เมื่อบริษัทได้เชื้ออ้างอิงจาก WHO จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือน จึงจะทำการวางจำหน่ายได้ และนั่นหมายถึงว่าจะต้องมีการทดสอบทางคลินิกในมนุษย์ก่อนด้วย

        ประเทศที่สามารถผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้ในปัจจุบันคือ ประเทศในทวีปยุโรป เช่น ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกา ในการผลิตเพื่อให้พอใช้สำหรับคนทั่วโลกต้องใช้ประมาณทั้งสิ้น 5,000 ล้านเข็ม ประเทศไทยตกอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่สามารถผลิตวัคซีนได้เอง

        เทคนิคในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในปัจจุบันคือเทคนิค reverse genetics ซึ่งใช้เวลาน้อยลง เมื่อความต้องการวัคซีนในช่วงนั้นเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมากมาย ทางเดียวที่จะสามารถใช้วัคซีนได้อย่างเหมาะสมคือ จะต้องวางนโยบายการฉีดวัคซีนของประเทศ กล่าวว่าใครจะเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรค ใครจะเป็นผู้มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้มาก รวมทั้งการฉีดวัคซีนในกลุ่มใดจึงจะมี cost effective ที่สุด ในการที่จะวางนโยบายตรงนี้ที่ประชุมจำเป็นจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบภาระอันเกิดจากโรคไข้หวัดใหญ่และโรคแทรกซ้อนของมันก่อน

        นพ.เดวิด เชย์ จากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ เมืองแอตแลนตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอวิธีการทางสถิติที่ใช้วิเคราะห์ภาระโรค การวิเคราะห์จำเป็นต้องได้ข้อมูลการเฝ้าระวัง ซึ่งในสหรัฐมีระบบการเฝ้าระวังอยู่ 5 ระบบด้วยกัน ได้แก่ การเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการ เครือข่ายแพทย์ผู้รักษาทำการรายงาน influenza-like illnesses ระบบรายงานจากนักระบาดวิทยาระดับมลรัฐ ระบบรายงาน 122 cities mortality report และระบบรายงานการเปลี่ยนแปลงของไวรัสในระดับชาติ

        วิธีวิเคราะห์ทางสถิติที่ใช้กันในสหรัฐมี 3 วิธีได้แก่ rate different model, baseline forecast model, และretrospective model แต่ละวิธีมีประโยชน์แตกต่างกัน สิ่งที่สหรัฐต้องการหาก็คือ อัตราตายและอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับโรคไข้หวัดใหญ่ในแต่ละกลุ่มอายุ เพื่อที่จะนำมาคำนวณหาค่าใช้จ่าย และหา cost effectiveness ของวัคซีน หาวิธีป้องกันความสูญเสียอันเกิดเนื่องจากโรค พร้อมกับทิ้งคำถามไว้ว่าวิธีใดน่าจะเป็นวิธีที่เหมาะที่สุดสำหรับการพิจารณาภาระโรคในประเทศไทย ในสหรัฐพบว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่มี cost effectiveness ในผู้สูงอายุไม่ว่าจะมีโรคอื่นอยู่เดิมหรือไม่มีโรคก็ตาม ในสหรัฐมีนโยบายให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในเด็กอายุ 6-24 เดือน และในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยระบบประกันสุขภาพครอบคลุม

        นพ. เงียน ซี พิง จากมหาวิยาลัยสิงคโปร์ได้นำเสนองานวิจัยการหาภาระผลกระทบเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศสิงคโปร์ โดยใช้ข้อมูลจากการเฝ้าระวังที่เรียกว่า one - day mortality report และจากระบบรายงานประจำปีของกระทรวงสาธารณสุข มีการเก็บตัวอย่างจากโพลีคลินิกเพื่อส่งแยกเชื้อไวรัส พบว่ามีการเจ็บป่วยจากไข้หวัดใหญ่ 6 แสนครั้งต่อปี มีการพบแพทย์ 5 แสนครั้ง และมีวันหยุดขาดงานหรือ โรงเรียน 3 แสนวัน มีผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปีเป็นปอดบวม 4,000 คน และเสียชีวิต 1,400 คน ในจำนวนผู้ที่มาหาด้วยอาการของไข้หวัด15% จะให้ผลบวกต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่ วัคซีนมีประสิทธิภาพป้องกันได้ 50% ทั้งหมดนี้คิดเมื่อประเทศสิงคโปร์มีประชากร 3 ล้านคน

        ในประเทศไทยได้มีการวิจัยหาภาระเรื่องนี้โดยได้รับความร่วมมือจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา ทำการวิจับแบบ population-based ที่จังหวัดสระแก้ว โดยใช้เครือข่ายเฝ้าระวังโรคปอดบวมที่มีอยู่แล้วต่อยอดเพื่อหาภาระโรคปอดบวมจากโรคไข้หวัดใหญ่ อัตราการเจ็บป่วยจากไข้หวัดใหญ่ อัตราการเข้ารับการรักษาพยาบาล อัตราการตาย การวิจัยใช้ระบบเฝ้าระวังแบบเชิงรุกที่จะทำการเพาะเชื้อผู้ป่วยที่เข้าข่ายทุกคนในจังหวัด ทำการเพาะเชื้อ แยกเชื้อ และติดตามจนออกจากโรงพยาบาล แตกต่างจากระบบรายงาน 506 ของกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นระบบเฝ้าระวังแบบเชิงรับ

        คุณมาร์ค ซิมเมอร์แมนสรุปผลงานวิจัยเบื้องต้นที่ทำการเก็บข้อมูลมาเป็นเวลา 2 ปี พบว่า ในจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดที่มาพบแพทย์ 22% จะเกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ อัตราการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ที่รักษาแบบผู้ป่วยนอกเท่ากับ 658/100,000/ปี เทียบกับระบบเฝ้าระวังแบบ passive ที่บันทึกได้ 60-90/100,000/ ปี อัตราการเกิดปอดบวมจากไข้หวัดใหญ่เท่ากับ 11-14 /100,000/ ปี เมื่อมีผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 50% จะขาดงานหรือโรงเรียน อย่างน้อย 3 วัน คิดแล้วเท่ากับ 1.2 ล้านวันต่อปี 40% ของผู้ป่วยจะมีสมาชิกในบ้านป่วยพร้อมกัน และ 63% พ่อหรือแม่ต้องหยุดงานมากกว่า 1 วันเพื่อดูแล ผู้ที่เป็นไข้หวัดใหญ่ 4.8% ต้องพบแพทย์มากกว่า 1 ครั้ง 81% ได้รับยาฆ่าเชื้อ และ 85% ของผู้ป่วยไม่ทราบว่าโรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน รายงานนี้เป็นผลเบื้องต้นยังต้องทำการวิเคราะห์ละเอียดต่อไป ซึ่งยังรอผลที่ทำการแยกเชื้อไวรัสจากสหรัฐอเมริกาอีก

        นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร จากกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอผลการวิจัยวิเคราะห์เบื้องต้นเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโรคไข้หวัดใหญ่ งานวิจัยทำโดยใช้ข้อมูลฐานจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยการทำแบบสอบถามแบบตัวต่อตัว สำรวจ 120,000 ครอบครัวติดตามนาน 12 เดือน พบว่าเมื่อคิดจำนวนประชากรไทย 63.9 ล้านคนในปี พ.ศ. 2546 เมื่อมีคนป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ครอบครัวต้องจ่ายเงิน หนึ่งหมื่นหนึ่งพันล้านบาทต่อปี รัฐบาลจ่าย หนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปี ค่าขาดงานของผู้ป่วยเท่ากับสองหมื่นเก้าพันล้านบาท ค่าขาดงานของผู้ดูแลเท่ากับหนึ่งหมื่นสามพันล้านบาท ถ้าวัคซีนมีราคาเข็มละ 250 บาท จะมีความคุ้มค่าถ้าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันมากกว่า 60% แต่ในการฉีดให้แก่ผู้สูงอายุ จะคุ้มค่าในทุกราคาถ้าประสิทธิภาพมากกว่า 50% และราคาไม่มากไปกว่า 250 บาท

        ผศ. นพ.พูนทรัพย์ วงศ์สุรเกียรติ จากหน่วยโรคทางเดินหายใจ คณะแพทยศาสตร์ รพ.ศิริราช ได้นำเสนอผลการวิจัยการใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรังในประเทศไทยที่ทำในปี พ.ศ. 2540 โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งได้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ อีกกลุ่มได้รับยาหลอก ติดตามดูอาการของทางเดินหายใจ การทำงานของปอด ความสามารถในการออกกำลังกาย ผลข้างเคียงของการฉีดยา ผลพบว่าวัคซีนสามารถลดการติดเชื้อของทางเดินหายใจเฉียบพลันจาก 6.8/100 เป็น 2.8/100 ความแตกต่างนี้มีนัยสำคัญทางสถิติ วัคซีนสามารถป้องกันไม่ให้อาการการติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง และไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจได้ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง 100 คน สามารถป้องกันการติดเชื้อและประหยัดค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการรักษาตัวในโรงพยาบาล และการใช้เครื่องช่วยหายใจได้ถึง 448,000 บาท ถ้าฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ป่วยทุกคนจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ 1 พันล้านบาท ประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถป้องกันโรคได้ 66% การศึกษาการฉีดวัคซีนในผู้ที่ไม่ได้มีโรคเรื้อรังในประเทศไทยมีการกล่าวถึงไว้แต่ไม่ได้กล่าวในรายละเอียด เป็นการศึกษาของรศ.นพ. ประเสริฐ อัตสันตชัย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

        ความสำคัญของโรคไข้หวัดใหญ่ในเด็กพบว่าในช่วงที่มีการระบาด โรคนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กชักได้ถึง 80% ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลจะเท่ากับผู้ใหญ่อายุมากกว่า 50 ปีที่มีโรคเรื้อรัง ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ทำให้เด็กในทุกช่วงอายุได้รับยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น ในช่วงที่ระบาดทำให้การเข้าพบแพทย์เพิ่มขึ้น 35% และการใช้ยาฆ่าเชื้อเพิ่มขึ้น 10-30%

        ศ. นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขาได้ทำการทบทวนรายงานการวิจัยเกี่ยวกับไช้หวัดใหญ่จากต่างประเทศโดยสรุปพบว่า วัคซีนสามารถป้องกันโรคได้ 70% ป้องกันโรคแทรกซ้อนคือหูชั้นในอักเสบในเด็กได้ 30% ลดอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ได้ 30% สำหรับประเทศไทยได้มีการนำเสนอผลสรุปของการวิจัยเบื้องต้นที่ทำแบบ multicenter randomized placebo control trial ที่ทำร่วมกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อทดสอบวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ไทย พบว่าเมื่อฉีดวัคซีนให้แก่เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีจำนวน 2,000 คน สามารถป้องกันโรคได้57-85%

        นพ.เดวิด เชย์ จากกรมควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในคนปกติที่ไม่ได้เจ็บป่วยหรือมีปัจจัยเสี่ยง ในกลุ่มนี้ที่มีข้อมูลจากการวิจัยแน่ชัดว่า การฉีดวัคซีนจะมีประโยชน์ก็คือในกลุ่มของบุคลากรทางการแพทย์ สืบเนื่องจากว่าในช่วงฤดูการระบาดของเชื้อไวรัส จะพบว่าบุคลากรที่ทำงานบริการผู้ป่วยจะเป็นตัวแพร่เชื้อในโรงพยาบาล และทำให้เกิดการระบาดของโรคในสถานพยาบาล การฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรทางการแพทย์จึงไม่ได้มีประโยชน์ต่อตัวผู้ฉีด แต่มีประโยชน์แก่ผู้ป่วย มีรายงานสองชิ้นที่ทำการศึกษาการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ให้บริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลในสก็อตแลนด์ พบว่าในโรงพยาบาลที่ฉีดวัคซีนให้แก่เจ้าหน้าที่จะลดการเกิดเจ็บป่วยจากทุกสาเหตุจาก 17-22% เป็น 10-13.6 % จากข้อมูลนี้ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐจึงแนะนำให้บุคลากรทางการแพทย์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง การฉีดนี้เป็นไปตามความสมัครใจ แต่อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในสหรัฐยังพบว่า อัตราที่เจ้าหน้าที่สมัครใจรับการฉีดวัคซีนยังต่ำกว่า 40% โดย 90% ของผู้ที่ฉีดมาฉีดเพราะเชื่อว่าตัวเองจะได้รับประโยชน์จากการป้องกันโรค ประเทศออสเตรเลียและอังกฤษก็มีการรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนในบุคลากรทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน

        นพ.ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ จากกระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยว่า ประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 โดยฉีดให้แพทย์ประมาณปีละ 8,000-10,000 เข็ม และมีโครงการฉีดให้แก่ผู้ที่จะไปแสวงบุญที่เม็กกะปีละ 10,000 เข็ม ในแต่ละปีจะมีการสั่งวัคซีนปีละประมาณ 50,000-200,000 เข็ม ในปีที่แล้วสั่งเข้ามา 200,000 เข็มและเมื่อมีสถานการณ์ไข้หวัดนกระบาด เราได้รับวัคซีนบริจาคจาก WHO อีก 200,000 เข็ม คิดแล้วจะมีจำนวนประชากรทั่วประเทศที่ได้รับการฉีดน้อยกว่า 1% มีการฉีดให้แก่ทหารเกณฑ์ที่ต้องมาทำงานช่วยทำลายไก่ที่เป็นโรค 1,000 คน โครงการการฉีดวัคซีนของทางราชการของไทยในขณะนี้จึงมีทั้งหมดสองโครงการ คือฉีดให้แก่นักแสวงบุญและให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส ไข้หวัดใหญ่

        นพ.แลนซ์ เจนนิง ประธาน Asian Pacific Advisary Committee on Influenza ได้นำเสนอสถานการณ์การใช้วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในประเทศต่างๆ พบว่าปริมาณการฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศจะเป็นไปตามนโยบายคำแนะนำการฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบประกาศ นพ.เดวิด เฟดสัน จาก สหรัฐอเมริกากล่าวเสริมว่า นโยบายการฉีดวัคซีนที่กำหนดกลุ่มเสี่ยง กลุ่มที่จะได้รับประโยชน์โดยส่วนรวมนั้น มีความจำเป็นสำหรับแต่ละประเทศมาก เพราะจะทำให้เมื่อเกิดการระบาดใหญ่แบบ pandemic ขึ้นจริงๆ ประเทศนั้นๆ จะสามารถใช้นโยบายนี้ ปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นได้โดยที่ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจได้ง่ายกว่าประเทศที่ไม่เคยเตรียมตัวเรื่องนี้มาก่อนเลย อย่างไรก็ตามการที่ประเทศหนึ่งๆ จะสามารถร่างนโยบายนี้ออกมาได้ จะต้องใช้ข้อมูลทางการเฝ้าระวังโรค ข้อมูลเรื่องภาระผลกระทบของโรค และข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจนำมาพิจารณาก่อน

        นพ.แลนซ์ เจนนิงกล่าวว่าในขณะนี้ประเทศที่มีการใช้วัคซีนในระดับที่สูงคือ ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี คือประมาณ 100/1,000 ประชากร ในปี พ.ศ. 2500 มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในทวีปเอเชีย ทำให้มีคนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เมื่อมีรายงานในวารสาร New England Journal of Medicine ในปี พ.ศ. 2530 รายงานว่าการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียนสามารถลดการติดเชื้อในคนกลุ่มอื่นได้ ญี่ปุ่นจึงเริ่มโครงการฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนโดยเป็นโครงการบังคับในปี พ.ศ. 2540 และแนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี และผู้ที่มีโรคเรื้อรัง โครงการนี้ผลักดันให้การใช้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในญี่ปุ่นสูงขึ้นจนติดอันดับต้นๆ ของโลก ปัจจุบันญี่ปุ่นสามารถพัฒนาการผลิตวัคซีนใช้เองในประเทศได้

        ประเทศเกาหลีได้ตั้งคณะกรรมการให้คำแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนขึ้นในปี พ.ศ. 2540 โดยสอดคล้องกับคำแนะนำของ WHO และหลังจากที่เกิดโรค SARS ขึ้น เกาหลีได้เพิ่มการฉีดในผู้ที่สูงอายุ อายุมากกว่า 50 ปี ขึ้นไป ทำให้ในปีที่แล้ว การใช้วัคซีนในเกาหลีเท่ากับ 14 ล้านเข็มหรือเท่ากับ 32% ของประชากร

        ไต้หวันมีคำแนะนำการฉีดวัคซีนเช่นกัน โดยใช้คำแนะนำตาม APACI และ ของประเทศสหรัฐ และได้รวมเอาเด็กอายุ 6 เดือนถึง 23 เดือนและมีโครงการรณรงค์ทางสื่อด้วย ในปี พ.ศ. 2541 จนสามารถเอาชนะฤดูกาลการกระจายของเชื้อที่มักจะเกิดขึ้นในเดือนมกราคมได้ด้วยการฉีดวัคซีนก่อนนั้น 2-4 เดือน

        ประเทศสิงคโปร์ ไม่มีนโยบายการฉีดวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข แต่นโยบายนี้ตรงมาจากนายกรัฐมนตรี โดยให้ฉีดในคนที่อายุมากกว่า 55 ปี ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง บุคลากรทางการแพทย์ การฉีดนี้จะได้รับการเบิกจ่ายจากรัฐบาล ตรงกันข้ามในประเทศฮ่องกงที่ไม่เชื่อว่าการฉีดวัคซีนมีประโยชน์ จึงไม่ค่อยมีการฉีดวัคซีนเท่าใดนัก แต่ก็ใช้คำแนะนำตามแบบ WHO ส่วนประเทศจีนกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำนโยบาย แต่การฉีดวัคซีนก็ได้เพิ่มขึ้นแล้วโดย 50% เป็นการฉีดในเด็ก

        นพ.เดวิด เฟดสันได้นำเสนอข้อมูลการฉีดวัคซีนในประเทศตะวันตก พบว่าแคนนาดาและสหรัฐอเมริกามีการใช้วัคซีนสูงสุดคือประมาณ 35% ของประชากร ในยุโรป เยอรมันมีการใช้วัคซีนมากที่สุด ประเทศส่วนใหญ่ใน

        ยุโรปมีการฉีดวัคซีนมาก แต่น่าแปลกที่กลุ่มประเทศนอร์ดิก มีการฉีดที่ต่ำสันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากขนบธรรมเนียมและความเชื่อทางศาสนา เม็กซิโกมีอัตราการใช้วัคซีนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดจากการตัดสินใจของผู้นำประเทศ เม็กซิโกเป็นหนึ่งในประเทศที่ไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยเรื่องวัคซีนเป็นของตัวเอง และประเทศบางประเทศในทวีปยุโรป ก็เพิ่งจะมีการวิจัย cost effectiveness ของการใช้วัคซีน หลังจากที่ประกาศนโยบายสนับสนุนให้ฉีดวัคซีนไปแล้ว

        ไข้หวัดนกและการควบคุมป้องกันโรคในประเทศฮ่องกงได้ถูกนำเสนอโดยนพ.ลิโอ พูน ในปี พ.ศ. 2540 ได้เกิดการระบาดของไข้หวัดนกขึ้นในไก่ และได้มีผู้ป่วยที่เป็นมนุษย์ จากเชื้อนี้เป็นรายแรกขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนเชื้อระหว่างสัตว์ปีกกับคนได้เกิดขึ้นแล้วโดยเชื้อที่เกิดเป็น H5N1 หลังจากนั้นรัฐบาลฮ่องกงจึงได้จัดระบบการเฝ้าระวังขึ้นในสัตว์ปีกและในนกธรรมชาติ ทำการตรวจเพาะเชื้อไวรัส ตรวจตัวอย่างเป็นจำนวนมากถึงหลายแสนตัวอย่างต่อปี เพื่อดูวิวัฒนาการของเชื้อ พบว่าเชื้อที่พบส่วนใหญ่เป็นเชื้อ H5 และ H9 เชื้อ H5 เป็นเชื้อที่พัฒนามาจากเชื้อไวรัสห่านในกวางตุ้ง หลังจากที่เกิดการระบาดได้มีมาตรการออกมาใช้ป้องกันไวรัสในไก่ ได้แก่ ห้ามมีการขนส่งไก่ระหว่างฟาร์มของชาวบ้าน ไก่จะต้องถูกส่งจากฟาร์มไปยังตลาดขายส่งเท่านั้น และจากนั้นจึงจะทำการกระจายไปยังตลาดย่อย กรงที่ทำการเลี้ยงใช้เป็นกรงพลาสติกเพื่อง่ายแก่การทำความสะอาด ในหนึ่งเดือนจะต้องทำการหยุดการขายไก่ 1-2 วัน เพื่อยุติการไหลเวียนของเชื้อในตลาด ห้ามมีการเลี้ยงนกกระทาในเกาะฮ่องกง และในการระบาดเมื่อปี พ.ศ. 2540 รัฐบาลฮ่องกงได้ทำการฆ่าไก่ทั้งหมดบนเกาะฮ่องกง นพ.ลิโอ พูนเชื่อว่าระบบการเฝ้าระวังในสัตว์มีความจำเป็นต่อการรู้ธรรมชาติของเชื้อ และเชื่อว่านอกจากเชื้อ H5 แล้ว H9 และไวรัสในหมูก็มีศักยภาพในการก่อให้เกิดการระบาดใหญ่แบบ pandemic ด้วยเช่นกัน

        คุณปิแอร์ คัมปิลาร์ด ตัวแทนจากอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากสหภาพยุโรปกล่าวว่า ในปัจจุบันบริษัทที่ผลิตวัคซีนขายออกเป็นอุตสาหกรรมได้แก่ประเทศในยุโรปได้แก่ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน ในญี่ปุ่น จีนและสหรัฐมีการผลิตใช้เองในประเทศ อุปสรรคในขณะนี้ก็คือกำลังการผลิตไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ในเวลาอันรวดเร็วได้ถ้าเกิดการระบาดแบบ pandemic ขึ้น เนื่องจากเทคนิคในการผลิตยังต้องอาศัยไข่อยู่ และใช้วิธีการแบบ genetic reassortment ถ้าเกิดการระบาดใหญ่บริษัทจะต้องปรับแผนโดยใช้สายพันธุ์ H5 ซึ่งยังไม่มีประสบการณ์ในการทำ โดยนำมาทำการเปลี่ยนยีนซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนในการผลิต

        ปัญหาเมื่อเกิดการระบาดขึ้นก็คือประเทศที่ไม่สามารถผลิตวัคซีนเองได้ จะต้องรอให้การใช้วัคซีนในประเทศที่ผลิตได้ใช้จนเพียงพอก่อน การส่งวัคซีนออกนอกประเทศอยู่ภายใต้การอนุญาตของรัฐบาลของประเทศนั้นๆ บริษัทผู้ผลิตไม่มีอำนาจตรงนี้ ถ้ามีการอนุญาตให้วัคซีนที่เหลือถูกส่งออกขายได้ บริษัทจึงจะมีการส่งวัคซีนให้ประเทศต่างๆ ตามที่เคยได้มีการตกลงไว้ก่อนหน้า โดยจะส่งให้เท่ากับ 3 เท่าจากฐานข้อมูลเดิม ยกตัวอย่างประเทศไทยก็จะได้ 6 แสนเข็มสำหรับคนทั้งประเทศ หรือในสถานการณ์ที่เลวร้ายไปกว่านั้นก็คือ อาจจะไม่ส่งให้เลยถ้าวิกฤตมาก ดังนั้นคุณคัมปิลาร์ดจึงแนะนำว่าประเทศที่ไม่มีวัคซีนด้วยกัน ควรจะต้องจัดตั้งเครือข่ายขึ้นมาทำการต่อรองตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้ากับบริษัทวัคซีน เช่นเดียวกับที่ประเทศอาเจนตินาทำไว้กับประเทศฝรั่งเศส ซึ่งการเจรจานี้ต้องทำโดยผู้มีอำนาจในระดับประเทศ มีผู้กล่าวว่าทำไมจึงไม่ทำการผลิตวัคซีนโดยให้เทคนิค reverse genetics ซึ่งจะผลิตได้มากกว่า ปัญหาของวิธีนี้ก็คือลิขสิทธิ์เป็นของสถาบันการศึกษา 3 แห่งในสหรัฐ ซึ่งยังไม่มีการจัดการเรื่องนี้ชัดเจน ในการตกลงจะต้องใช้เวลาหลายปีซึ่งอาจจะไม่ทันถ้าเกิดการระบาดขึ้นในเร็วๆ นี้

        นพ.เดวิด เฟดสันกล่าวว่านักวิจัยของบริษัทแกล็กโซสมิทไคลน์ได้คิดวิธีการผลิตวัคซีนแบบ monovalent ที่ใช้ไวรัสขนาดต่ำและใช้ adjuvant ขนาดน้อยๆ ซึ่งสามารถผลิตได้วัคซีนเป็นจำนวนมากๆ ในเวลาจำกัด วิธีนี้จึงน่าจะเป็นคำตอบสำหรับสถานการณ์วิกฤต อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะดำเนินการผลิตวัคซีนใหม่ที่ใช้ไวรัสสายพันธุ์ที่คาดว่าจะก่อโรคคือ H5 หรือ H9 ปัญหาต่อไปในประเทศต่างๆ ก็คือ ต้องดำเนินการให้ประเทศนั้นอนุญาตให้ใช้วัคซีนใหม่นี้ได้ในคน ซึ่งขบวนการนี้ก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน

        รศ. พญ.พรรณพิศ สุวรรณกูล ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับยาต้านไวรัสว่า ไม่ใช่ยุทธวิธีอันดับหนึ่งในการควบคุมโรคเมื่อมีการระบาดใหญ่ แต่ก็สามารถจะใช้ควบคุมอาการผู้ป่วยไม่ให้รุนแรงได้ในผู้สูงอายุและคนไข้บางกลุ่ม นพ.เดวิด เชย์ จากกรมควบคุมโรคติดต่อ สหรัฐ ได้กล่าวเสริมว่า ความหวังที่จะมียาต้านไวรัสไว้ใช้นั้นไม่มีเลย เนื่องจากประเทศผู้ผลิตไม่อนุญาตให้ส่งออกขายต่างประเทศ อย่างเช่นในเหตุการณ์การระบาดของไข้หวัดหมูในสหรัฐนั้น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ไม่สามารถจำหน่ายยาให้แก่ต่างประเทศได้

        สพญ.ดาริกา กิ่งเนตร ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดทำแผนเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ โดยได้มีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ร่วมแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วม นอกจากบุคลากรทางการแพทย์แล้ว ทหาร ตำรวจ องค์กรอิสระ รวมทั้งสื่อมวลชนจะต้องช่วยกันทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องโรค การให้ข้อมูลที่ถูกต้องโปร่งใสในเวลาที่เหมาะสม เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เกิดความสมดุลย์ความสงบในสังคม โรงพยาบาลเอกชนจะต้องเข้าร่วมเพื่อจัดสรรเตียงผู้ป่วย อาจจะต้องมีการเปิดค่ายผู้ป่วยพิเศษ ในกรณีที่เตียงรักษาพยาบาลไม่เพียงพอ ผู้สั่งการเด็ดขาดได้เพียงคนเดียวเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมาก ในกรณีนี้นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้สั่งการสูงสุด ประสบการณ์จากโรค SARS และไข้หวัดนกทำให้การเตรียมพร้อมของประเทศไทยมีความพร้อมในระดับหนึ่ง เชื่อว่าถ้าเกิดการระบาดจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ขึ้น อัตราการติดเชื้อจะประมาณ 25-30% เดิมผู้ที่เสียชีวิตในช่วงที่ยังไม่มีการระบาดคือผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี แต่ในการระบาดใหญ่นี้อายุที่เสี่ยงจะลดลงมาเป็นประมาณอายุ 50-60 ปี คาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 300 ล้านคนทั่วโลก

        สุดท้ายที่ประชุมได้ร่วมกันร่างข้อตกลงเพื่อใช้เป็นข้อเสนอนโยบายป้องกันและควบคุมไข้หวัดใหญ่สำหรับประเทศไทย โดยจะให้กระทรวงสาธารณสุขผลักดันร่างนี้ให้เกิดผลในระดับชาติ โดยร่างให้สอดคล้องกับคำแนะนำของ WHO และ APACI โดยสรุปที่ประชุมได้ตกลงกันว่า ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่มีความรุนแรง ประเทศไทยจะต้องมีการจัดเตรียมแผนสำหรับการระบาดใหญ่ pandemic ไว้สำหรับสถานการณ์วิกฤต โดยจะต้องจัดให้มีระบบเฝ้าระวังที่เข้มแข็งทั้งทางคลินิกและทางชีววิทยา มีการเฝ้าระวังในสัตว์ ร่างคำแนะนำการฉีดวัคซีนสำหรับประชาชน โดยลงรายละเอียดว่ากลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการฉีดคือใคร ในการเขียนคำแนะนำนี้ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีการศึกษาข้อมูลในเรื่องภาระของโรค เรื่องประสิทธิภาพและความคุ้มทุนของวัคซีนของประเทศไทยเอง ในระหว่างนี้ที่ประชุมหวังว่าจะมีการให้ความรู้เรื่องโรคนี้และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการฉีดวัคซีนได้อย่างถูกต้องทั้งในบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป ศ. นพ.ประเสริฐ ทองเจริญได้กล่าวปิดประชุมและให้ความเห็นว่าการประชุมครั้งนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี และจะมีการประชุมติดตามผลต่อไปในโอกาสต่อไปโดยคาดว่าจะเป็นในปีหน้านี้


มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ 630 ซอย อาคารสงเคราะห์ (ซอย 23) ถ. นวมินทร์ แขวง คลองจั่น เขต บางกะปิ กทม.